Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีและรูปภาษาที่แสดงการขอร้อง รวมถึงวิเคราะห์การขอร้องที่แปรตามปัจจัยด้านสถานภาพทางสังคมของผู้พูดกับผู้ฟัง และความยากง่ายของเรื่องที่ขอร้อง ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้จากการตอบแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่างคนไทยที่เป็นอาจารย์และนักเรียน จำนวนกลุ่มละ 50 คน ผลการศึกษากลวิธีการขอร้องในภาษาไทย พบว่าแบ่งได้เป็น 2 กลวิธีใหญ่ ได้แก่ การขอร้องอย่างตรงไปตรงมา และการขอร้องอย่างไม่ตรงไปตรงมา การขอร้องอย่างตรงไปตรงมานั้นแบ่งเป็นกลวิธีย่อยได้อีก 2 กลวิธี ได้แก่ การขอร้องที่ไม่มีส่วนตกแต่ง และการขอร้องที่มีส่วนตกแต่ง การขอร้องที่มีส่วนตกแต่งมีกลวิธีแยกย่อยอกได้อีกเป็น 8 กลวิธี ได้แก่ การลดความรุนแรงของสถานการณ์ การยกย่องและให้เกียรติผู้ฟัง การแสดงความเป็นกันเอง การเสนอทางเลือก การแสดงความเกรงใจ การแสดงเหตุผล การเสนอข้อแลกเปลี่ยน และการสำนึกบุญคุณ ในด้านรูปภาษา พบว่าการขอร้องอย่างตรงไปตรงมาชนิดที่ไม่มีส่วนตกแต่งจะมีกริยาที่บ่งเจตนาขอร้องส่วนชนิดที่มีส่วนตกแต่งจะมีกริยาบ่งเจตนาขอร้องและตกแต่งด้วยการใช้คำต่าง ๆ ในขณะที่การขอร้องอย่างไม่ตรงไปตรงมาจะไม่มีรูปภาษาที่บ่งเจตนาขอร้อง ผลการศึกษาการขอร้องที่แปรตามปัจจัยด้านสถานภาพทางสังคมของผู้พูดกับผู้ฟังและความยากง่ายของเรื่อง พบว่า ไม่ว่าผู้พูดจะมีสถานภาพเช่นใด และขอร้องด้วยเรื่องที่ง่ายหรือยาก ต่างก็นิยมใช้การขอร้องอย่างตรงไปตรงมาที่มีส่วนตกแต่งมากที่สุด ตามด้วยการขอร้องอย่างไม่ตรงไปตรงมา และการขอร้องอย่างตรงไปตรงมาที่ไม่มีส่วนตกแต่ง ตามลำดับ แต่จะพบว่าการขอร้องอย่างไม่ตรงไปตรงมานั้นจะมีจำนวนการใช้มากขึ้นเมื่อผู้พูดมีสถานภาพต่ำกว่าผู้ฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องที่ขอร้องเป็นเรื่องยาก ส่วนการขอร้องอย่างตรงไปตรงมาชนิดที่ไม่มีส่วนตกแต่งจะมีจำนวนการใช้มากขึ้นเมื่อผู้พูดมีสถานภาพสูงกว่าผู้ฟัง นอกจากนี้จำนวนความถี่ในการเลือกใช้กลวิธีย่อยของการขอร้องอย่างตรงไปตรงมาชนิดที่มีส่วนตกแต่ง จะมากขึ้นเมื่อผู้พูดมีสถานภาพต่ำกว่าผู้ฟัง และเรื่องที่ข้อร้องเป็นเรื่องยาก