Abstract:
วิธีการชักนำให้เกิดการงอกใหม่ของเนื้อเยื่อ หรือ จีทีอาร์ เป็นวิธีการรักษาแบบบูรณาการที่นำมาใช้ไนการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ แผ่นเยื่อขวางกั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการรักษาได้ มีแผ่นเยื่อที่ผลิตขึ้นทางการค้าหลายชนิด เช่น แผ่นเยื่อกอร์-เท็กซ์ แผ่นคอลลาเจน หรือ แผ่นกรดโพลีแลคติก ที่มีรายงานพบว่าให้ผลดีการรักษาเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนั้นยังมีการนำแผ่นยางกันนํ้าลายและแผ่นซิลิโคนมาใช้ เป็นแผ่นเยื่อขวางกั้น แต่แผ่นเยื่อเหล่านี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่ ดังนั้นความพยายามในการหาแผ่นเยื่อขวางกั้นที่เหมาะสมจึงยังคงมีอยู่ สารไคโตซานมีคุณสมบัติทางการแพทย์ที่ดีหลายประการและมีราคาถูก และอาจมีความ เป็นไปได้ในการนำมาทำเป็นแผ่นเยื่อขวางกั้น การวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อ ศึกษาความเข้ากันได้ทางชีวภาพของแผ่นไคโตซานกับเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเนื้อเยื่อเหงือกของคน และคุณสมบัติการยอมให้สารละลายอาหาร ผ่านของแผ่นไคโตซาน โดยในการศึกษาใช้วิธีเพาะเลี้ยงเซลล์ร่วมกับแผ่นไคโตซานในห้องปฏิบัติการและการศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์เฟสคอนทราสต์ชนิดหัวกลับและกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด ผลการศึกษาพบว่า มีการเจริญและการยึดเกาะของเซลล์ไฟโบรบลาสต์บนแผ่นไคโตซานที่มีดีอะเซทิลเลชันร้อยละ 75.9 และ 95.4 แต่เซลล์มีจำนวนมากกว่าและการยึดเกาะที่ดีกว่าบนแผ่นที่มีดีอะเซทิลเลชันร้อยละ 95.4 นอกจากนั้นยังพบว่ามีเซลล์เจริญได้บนแผ่นไคโตซานด้านที่ไม่ได้สัมผัสกับนํ้ายาเพาะเลี้ยงเซลล์โดยตรง ที่ระยะเวลาของการเพาะเลี้ยงเซลล์ เป็นเวลา 7 วัน พบว่าเซลล์ที่พบบนแผ่นไคโตชานที่มีดีอะเซทิลเลชันร้อยละ 95.4 มีจำนวนน้อยลงและมีการยึดเกาะที่ไม่ดีเท่าเซลล์ที่พบบนแผ่นที่มีดีอะเซทิลเลชันร้อยละ 75.9 จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าแผ่นไคโตซานมีความเข้ากันได้ทางชีวภาพกับเซลล์ไฟโบรบลาสต์จากเหงือกของคน และมีคุณสมบัติการยอมให้สารละลายอาหารผ่าน โดยคุณสมบัติทั้งสองข้อนี้อาจแตกต่างกันขึ้นกับร้อยละของดีอะเซทิลเลชัน