Abstract:
การศึกษาการทำศัลยกรรมเปิดช่องถุงหุ้มหัวใจผ่านกล้องโดยเข้าสู่ช่องอกหนึ่งด้าน (กลุ่มที่ 1) และสองด้าน (กลุ่มที่ 2) แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาตำแหน่งเจาะ trocar-canula สำหรับ telescope ในซากสุนัข 2 ตัว พบว่าตำแหน่งที่เหมาะสม อยู่ที่ด้านซ้ายของกระดูก xiphoid ในทั้งสองเทคนิค และตำแหน่งที่เหมาะสมของ cannula สำหรับเครื่องมืออยู่ที่ช่องระหว่างซี่โครงที่ 6 และ 7 ด้านซ้ายในกลุ่มที่ 1 และช่องระหว่างซี่โครงที่ 7 ทั้งสองด้านในกลุ่มที่ 2 ระยะที่ 2 เป็นการศึกษาการทำศัลยกรรมถุงหุ้มหัวใจเป็นช่องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. ในสุนัขทดลองพันธุ์ผสม จำนวน 10 ตัว เพศผู้ 2 ตัว และเมีย 8 ตัว น้ำหนัก 11-19.5 กก. แบ่งเป็นกลุ่มๆละ 5 ตัว ควบคุมระดับการสลบโดยใช้ halothane ในออกซิเจน โดยใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ความดันในช่องอกเท่ากับความดันบรรยากาศ พบว่าสามารถทำศัลยกรรมได้ทุกตัว มีความสะดวกในการทำศัลยกรรมในระดับปานกลางถึงมาก และพบว่าอาการแทรกซ้อนระหว่างศัลยกรรมในระดับต่ำทั้งสองกลุ่ม โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มของค่าสัญญาณชีพ ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันเลือดแดง ออกซิเจนอิ่มตัวในเลือด คาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออก อุณหภูมิทวารหนัก และค่าblood gases ในช่องก่อน ระหว่าง และ ภายหลังการทำศัลยกรรม ยกเว้นอัตราการหายใจช่วงเริ่มกรีดผิวหนังที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ใช้เวลาเฉลี่ย (+-ค่าคลาดเคลื่อนมาตรฐาน) ในการทำศัลกรรม 49.4 นาที (+-2.2) และ 69.8 นาที (+-13.2) ในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ตามลำดับ ระยะที่ 3 การเป็นการตรวจช่องอก ผ่าน telescope หลังการทำศัลยกรรม 2 สัปดาห์ ไม่พบการยึดติดระหว่างหัวใจกับถุงหุ้มหัวใจในสุนัขทุกตัวของทั้งสองกลุ่ม สรุปศัลยกรรมเปิดช่องถุงหุ้มหัวใจผ่านกล้องสามารถทำได้ทั้งโดยเทคนิคการ เข้าสู่ช่องอกเหนึ่งด้าน หรือ สองด้าน โดยมีผล และอาการแทรกซ้อนจากการทำศัลยกรรมใกล้เคียงกัน สามารถนำทั้งสองเทคนิคไปประยุกต์ใช้รักษาและบรรเทาอาการในสุนัขที่ป่วยจากภาวะน้ำซึมซ่านในถุงหุ้มหัวใจได้