Abstract:
สัญญาณพาราไครน์ (paracrine signal) เป็นการสื่อสารระหว่างเซลล์ 2 เซลล์ที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ได้รับสัญญาณได้ มีการศึกษาก่อนหน้าพบว่า เซลล์มะเร็งเต้านมมีการส่งสัญญาณไปยังเซลล์เม็ดเลือดขาวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุล ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวิธีการตรวจโรคจากการตรวจเลือด และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประยุกต์ใช้กับโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งรังไข่ที่มีความหลากหลายของเซลล์ และวิธีการตรวจคัดกรองยังมีประสิทธิภาพไม่มากพอ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ โดยการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนในเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติที่เลี้ยงร่วมกับเซลล์มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว 2 ประเภท เปรียบเทียบกับเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติกลุ่มควบคุม ผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค RNA-sequencing (RNA-seq) พบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่มทดลองมีการแสดงออกของยีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อนำผล RNA-seq มาคัดเลือกยีนที่สนใจร่วมกับการทดลอง expression array (GSE31682) พบว่า ยีน CDKN1B GIMAP8 และ SNN มีการแสดงออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และผลการตรวจสอบการแสดงออกของยีนที่สนใจในเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวเปรียบเทียบกับคนปกติ ด้วยเทคนิค quantitative reverse transcription polymerase chain reaction (RT-qPCR) พบว่า ยีน GIMAP8 มีการแสดงออกเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value < 0.0001 การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวมีการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกในระดับโมเลกุลเมื่อได้สัญญาณจากเซลล์มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว ซึ่งการแสดงออกของยีน GIMAP8 ที่เพิ่มขึ้นในเซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถนำไปใช้ตรวจโรคมะเร็งรังไข่ได้ นอกจากนี้ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ยังเป็นพื้นฐานที่สามารถศึกษาต่อยอดเพื่อการพัฒนาวิธีการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต