Abstract:
การปนเปื้อนน้ำมันดิบในทะเลเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอีกด้วย งานวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นการกำจัดน้ำมันดิบด้วยวิธีทางชีวภาพ โดยใช้แบคทีเรียเลียงร่วมระหว่าง Sphingobium sp. MO2-4 และ Bacillus megaterium TL01-2 ที่แยกได้จากฟองน้ำบริเวณอ่าวไทย วัตถุประสงค์ของงานคือ ศึกษาประสิทธิภาพการกำจัดน้ำมันดิบของ Sphingobium sp. MO2-4 และ B. megaterium TL01-2 ที่ตรึงบน aquaporous gel ภายใต้สภาวะที่แตกต่างกัน ซึ่งงานวิจัยนี้ ให้ความสนใจต่อสภาวะการเติมสารอาหารให้แก่แบคทีเรีย และสภาวะที่มีการใช้สารกระจายคราบน้ำมัน เนื่องจากสารอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ดังนั้นการเติมสารอาหารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณแบคทีเรีย และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดน้ำมันดิบได้ ส่วนสารกระจายคราบน้ำมันนั้นมีส่วนช่วยในการแตกตัวน้ำมันให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งช่วยให้แบคทีเรียมีการเข้าถึงน้ำมันดิบได้มากขึ้น มีแนวโน้มในการกำจัดน้ำมันดิบที่ดีขึ้น ดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงสนใจที่จะศึกษาถึงปัจจัยเสริมทั้งสองนี้ ที่มีผลต่อ Sphingobium sp. MO2-4 และ Bacillus megaterium TL01-2 ที่ตรึงบน aquaporous gel ในการกำจัดน้ำมันดิบ และแนวโน้มที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนน้ำมันดิบ