Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่เสริมเส้นใยวีสเกอร์ของสารไคโตซาน วิธีการทดลอง วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันพรีโวแคร์ และวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันพรีโวแคร์ที่มีสารไคโตซานในปริมาณร้อยละ 1.2, 3.3, 5, และ 6.5 โดยน้ำหนัก (n = 5) ถูกเตรียมเป็นชิ้นทดสอบเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มม. สูง 2 มม. นำไปวางบนแบบหล่อ เทสารเรซินใส รอจนเรซินใสแข็งตัวเต็มที่เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำชิ้นทดสอบขัดแต่งด้วยกระดาษทราย ตามด้วยผงขัดกากเพชร และใช้ผงขัดอลูมินัมออกไซด์ขนาด 0.05 ไมโครเมตรเป็นขั้นตอนสุดท้าย นำชิ้นทดสอบไปทดสอบความแข็ง โดยเครื่องทดสอบความแข็งในระดับนาโนยี่ห้อ UMIS เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบแล้วนำพรีโวแคร์ และ พรีโวแคร์ที่ผสมสารไคโตซานที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสูงสุดและความแข็งสูงสุด (n = 5) ทดสอบตามมาตรฐานไอเอสโอ 6874:1988 ในเรื่องความลึกของการแข็งตัวและความหนาของชั้นผิวที่ไม่แข็งตัว และมาตรฐานไอเอสโอ 4049:2000 ในเรื่องการดูดซับน้ำและการละลายน้ำต่อไป ผลการทดลอง วัสดุพรีโวแคร์ที่มีสารไคโตซานในปริมาณร้อยละ 1.2 โดยน้ำหนัก มีค่าความแข็งสูงสุดและสูงกว่าวัสดุพรีโวแคร์อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ค่าความแข็งของวัสดุพรีโวแคร์ที่มีสาร ไคโตซานในปริมาณร้อยละ 1.2, 3.3, 5, และ 6.5 โดยน้ำหนัก ไม่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามพบว่าวัสดุพรีโวแคร์ที่มีสารไคโตซานในปริมาณร้อยละ 1.2 โดยน้ำหนัก มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียต่ำที่สุด และประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของสารไคโตซานในปริมาณร้อยละ 3.3, 5, และ 6.5 โดยน้ำหนักไม่มีความแตกต่างกัน จึงเลือกวัสดุพรีโวแคร์ที่มีสารไคโตซานร้อยละ 3.3 มาทดสอบตามมาตรฐานไอเอสโอ ผลการทดลองพบว่าไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องค่าความลึกของการแข็งตัวและความหนาของชั้นผิวที่ไม่แข็งตัวของวัสดุพรีโวแคร์และวัสดุพรีโวแคร์ที่มีสารไคโตซานร้อยละ 3.3 โดยน้ำหนัก อย่างไรก็ตามวัสดุพรีโวแคร์ที่มีสารไคโตซานในปริมาณร้อยละ 3.3 โดยน้ำหนัก มีค่าการดูดซับน้ำและการละลายน้ำสูงกว่าพรีโวแคร์อย่างมีนัยสำคัญ สรุป วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่เสริมเส้นใยวีสเกอร์ของสารไคโตซาน มีผลในการต้านเชื้อแบคทีเรียโดยไม่ทำให้ความแข็งของวัสดุลดลง และมีคุณสมบัติผ่านมาตรฐานไอเอสโอ 6874:1988 แต่ไม่ผ่านมาตรฐานไอเอสโอ 4049:2000