Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายในการแยกและคัดกรองแบคทีเรียที่มีความสามารถในการยับยั้งราที่ก่อโรคในพืช โดยสามารถแยกแบคทีเรียจากตัวอย่างดิน 13 ตัวอย่าง ได้ทั้งหมด 141 ไอโซเลต แต่พบว่ามีแบคทีเรียเพียง 87 ไอโซเลตเท่านั้นที่มีชีวิตรอดและสามารถเจริญได้ จึงนำแบคทีเรียทั้ง 87 ไอโซเลตไปทดสอบความสามารถในการยับยั้งราที่ก่อโรคในพืช ได้แก่ Acremonium furcatum, Colletotrichum gloeosporioides, Fusarium moniliforme, Fusarium proliferatum, Fusarium solani, Phytophthora palmivora และ Pyricularia oryzae ซึ่งพบว่ามีแบคทีเรีย 15 ไอโซเลต ที่สามารถยับยั้งราที่ก่อโรคในพืชที่ใช้ในการทดสอบได้ทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการยับยั้งราที่ก่อโรคในพืช โดยพิจารณาจากเปอร์เซ็นต์การยับยั้งราที่ก่อโรคในพืช และจำนวนชนิดของราที่แบคทีเรียสามารถยับยั้งได้ พบว่าแบคทีเรียไอโซเลต E10B77 เป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่มีเปอร์เซ็นต์ในการยับยั้งราที่ก่อโรคในพืชสูงเป็น 3 อันดับแรก ในรา 6 ชนิด คือ A. furcatum, P. palmivora, P. oryzae, F. moniliforme, C. gloeosporioides และ F. solani โดยมีเปอร์เซ็นต์ในการยับยั้งเท่ากับ 41.67, 31.03, 31.03, 25.58, 24.32, และ 24.20% ตามลำดับ โดยมีเปอร์เซ็นต์ในการยับยั้ง F. proliferatum ได้ค่อนข้างต่ำ เพียง 9.09% เมื่อนำไอโซเลต E10B77 ไปพิสูจน์เอกลักษณ์ โดยการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา พบว่าไอโซเลต E10B77 มีลักษณะโคโลนีค่อนข้างกลม สีครีมขุ่น ผิวหน้าเรียบ วาว มีลักษณะรูปร่างของเซลล์เป็นท่อน ย้อมติดสีแกรมบวก และสามารถสร้างเอนโดสปอร์ได้ และการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณ 16S rDNA พบว่ามีความใกล้เคียง 99.93% กับแบคทีเรียหลายสปีชีส์ซึ่งจัดอยู่ใน Bacillus subtilis species complex เมื่อใช้ส่วนน้ำใสที่ปราศจากเซลล์ของไอโซเลต E10B77 ผสมกับอาหารแข็ง ในอัตราส่วน 1:1 แล้วทดสอบความสามารถในการยับยั้งราที่ก่อโรคในพืช พบว่าส่วนน้ำใสของไอโซเลต E10B77 สามารถยับยั้ง P. oryzae ได้มากที่สุด โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 51.95% และมีเปอร์เซ็นต์ในการยับยั้ง F. proliferatum ได้น้อยที่สุด โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 12.77% ผลการทดลองที่ได้แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียไอโซเลต E10B77 มีศักยภาพในการนำไปปรับใช้เพื่อการควบคุมราที่ก่อโรคในพืชได้ต่อไป