Abstract:
โครงงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของการต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากพืช 9 ชนิด และศึกษาการเสริมฤทธิ์ของสารสกัดจากพืชต่อยาปฏิชีวนะทดสอบ 4 ชนิด ได้แก่ กานามัยซิน ซิโพรฟลอกซาซิน สเตรปโทมัยซิน และแอมพิซิลลิน ในการต้านแบคทีเรียแกรมลบ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ Escherichia coli MSCU 0349 และ Salmonella Typhimurium MSCU 0492 สารสกัดจากพืชทดสอบทุกชนิดที่สกัดด้วยตัวทำละลายอะซีโตนและเมทานอลพบว่ามีสีที่แตกต่างกัน และผลการศึกษาถึงฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียแกรมลบของสารสกัดจากพืชก็พบว่ามีเพียงซัวยิ้งที่สกัดด้วยอะซีโตนและเมทานอล และโป๊ยกั๊กที่สกัดด้วยอะซีโตนมีฤทธิ์ในการต้าน E. coli นอกจากนั้นยังพบว่าโป๊ยกั๊กที่สกัดด้วยอะซีโตนมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ดีที่สุดซึ่งมีค่าความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) เท่ากับ 12.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ส่วนในการต้าน S. Typhimurium พบว่ามีเพียงซัวยิ้งและสีเสียดเทศที่สกัดด้วยอะซีโตนและเมทานอล และโป๊ยกั๊กที่สกัดด้วยอะซีโตนมีความสามารถต้านแบคทีเรียชนิดนี้ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าซัวยิ้งที่สกัดด้วยเมทานอลและโป๊ยกั๊กที่สกัดด้วยอะซีโตนมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ดีที่สุดซึ่งมีค่า MIC เท่ากับ 12.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และผลการทดสอบในการหาค่าความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดของสารสกัดทั้ง 5 ชนิดที่สามารถฆ่าเชื้อ (MBC) ได้พบว่ามีค่าอยู่ระหว่าง 12.5 ถึง 50 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร จากนั้นจึงนำสารสกัดจากพืชมาศึกษาการเสริมฤทธิ์ร่วมกับยาปฏิชีวนะโดยคำนวณเป็นค่า FIC Index พบว่ามีเพียงสารสกัดจากโป๊ยกั๊กที่สกัดโดยอะซีโตนให้ผลส่งเสริมฤทธิ์ร่วมกับยาปฏิชีวนะสเตรปโทมัยซินในการต้าน E. coli และมีค่า FIC Index เท่ากับ 0.50 ทั้งนี้จากผลการทดลองจึงแสดงให้เห็นว่าการรวมกันของสารทั้ง 2 ชนิดมีแนวโน้มที่ดีในการต้านแบคทีเรียแกรมลบจึงทำให้อาจเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ในการนำสารทั้งสองมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต