Abstract:
ศึกษากระบวนการปรับตัวของรัฐไทยด้วยการสร้างประชาสังคม โดยมีสมมติฐานว่าการสร้างประชาสังคมเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการปรับตัวเพื่อรักษาสถานภาพและออำนาจรัฐ ท่ามกลางกระแสที่เรียกร้องให้รัฐลดบทบาทและอำนาจลง ผลการศึกษา พบว่า กลไกด้านการใช้อุดมการณ์ของรัฐใช้การสร้างประชาสังคม เป็นเครื่องมือในการรักษาสถานภาพของรัฐ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นกลไกที่เคยมีอำนาจในการกำหนดการพัฒนา และกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นกลไกที่มีอำนาจในการบริหารภูมิภาคในทุกระดับ การสร้างประชาสังคมของรัฐเป็นการช่วงชิงวาทกรรมเรื่องประชาสังคมมาจากนักกิจกรรมและองค์กรพัฒนาเอกชนนอกภาครัฐและสามารถสถาปนาวาทกรรม เรื่องประชาสังคมมาได้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐสามารถช่วงชิงวาทกรรมเรื่องประชาสังคมกรรมมาได้ เนื่องจากวาทกรรมหลักเรื่องประชาสังคมของนักกิจกรรมไทย มีจุดอ่อนเชิงทฤษฎีที่ยอมรับให้รัฐเข้ามามีบทบาท จึงเป็นการเปิดช่องว่างให้รัฐสามารถเข้ามาช่วงชิงได้ในที่สุด และเมื่อรัฐสามารถช่วงชิงวาทกรรมเรื่องประชาสังคม ไปใช้เป็นเครื่องมือของรัฐได้ส่งให้เกิดผล 3 ประการ คือ (1) ประชาสังคมที่รัฐสร้างขึ้นกลายเป็นส่วนของรัฐ และรับคำสั่งจากรัฐ และเป็นการสร้างกระแสประชาสังคมตามแบบของรัฐให้มากขึ้น จนประชาสังคมแบบที่รัฐใช้อาจกลายเป็นวาทกรรมหลักในสังคมไทย (2) มีผลต่อกระบวนการสร้างความหมายของประชาสังคมใหม่ในสังคมไทย ให้เป็นไปตามวาทกรรมหลัก และ (3) ในแง่ของปฏิบัติการทางวาทกรรม ทำให้ขบวนการประชาสังคมไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นพวกของรัฐและอีกกลุ่มที่ยังต่อต้านรัฐ ซึ่งจะทำให้ขบวนการประชาสังคมไทยอ่อนแอในที่สุด