Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาถึงโอกาสและอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในแถบลาตินอเมริกาอันนำไปสู่การค้าระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น โดยได้จำแนกการศึกษาออกเป็นประเด็นหลักที่สำคัญ 2 ประการ คือโอกาสและอุปสรรค ในการพิจารณาทางด้านโอกาส ผลจากการทดสอบสัดส่วนปัจจัยการผลิตโดยใช้วิธีการแบบ Logit และ Probit พบว่า รูปแบบการค้าระหว่างไทยกับลาตินอเมริกาเป้นในลักษระการค้าระหว่างอุตสาหกรรม โดยไทยนำเข้าสุทธิในกลุ่มสินค้าที่ใช้ทุนกายภาพเข้มข้นและส่งออกสุทธิในกลุ่มสินค้าที่ใช้ทุนมนุษย์เข้มข้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในหลายปีที่ทำการทดสอบ ในขณะเดียวกันเมื่อคำนวณค่าดัชนี Grubel-Lloyd เพื่อวัดความสำคัญของการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันพบว่า รูปแบบการค้าภายในอุตสาหกรรมเดียวกันระหว่างไทยกับลาตินอเมริกาอยู่ในระดับที่ต่ำแต่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ในการวิเคราะห์ศักยภาพรูปแบบการค้าของสินค้าระหว่างไทยกับลาตินอเมริกาโดยอาศัยกรอบทฤษฎีห่านบินพบว่า ไทยมีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าการค้ากับลาตินอเมริกาในกลุ่มสินค้าที่ใช้ทุนมนุษย์เข้มข้นและทุนภายภาพเข้มข้น เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการส่งเสริมการค้ากับลาตินอเมริกาโดยใช้ค่าดัชนีทางการค้าต่าง ๆ และการเปรียบเทียบกับกรณีการค้าระหว่างเกาหลีใต้กับลาตินอเมริกพบว่า ดัชนีเข้มข้นทางการค้าระหว่างไทยกับลาตินอเมริกามีค่าต่ำทั้ง ๆ ดัชนีความสอดคล้องทางการค้าระหว่างกันมีค่าค่อนข้างสูง โดยอาจเป็นผลมาจากการที่ค่าดัชนีความลำเอียงทางค้ามีค่าสูงซึ่งหมายความว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งการปรับปรุงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในลาตินอเมริกาจะสามารถช่วยให้ไทยได้รับประโยชน์จากการค้ากับลาตินอเมริกาเพิ่มมากขึ้น ทางด้านอุปสรรคนั้น จากการใช้แบบจำลอง Gravity และการศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีเกาหลีใต้พบว่า ระยะทางระหว่างไทยกับลาตินอเมริกามิได้เป็นอุปสรรคหรือปัญหาสำคัญที่ไทยจะขยายการค้ากับลาตินอเมริกา ข้อสังเกตที่สำคัญคือเกาหลีใต้ซึ่งมีระยะทางห่างจากลาตินอเมริกาใกล้เคียงกับไทยสามารถมีสัดส่วนมูลค่าการค้าสูงกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว เมื่อศึกษาผลกระทบจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาทั้งที่รวมกันเองและรวมกับประเทศนอกกลุ่มพบว่า ปัญหาความหันเหทางการค้า (trade diversion มิใช่ปัญหาสำคัญสำหรับไทยในการค้ากับลาตินอเมริกาในกรณึการรวมกลุ่มของลาตินอเมริกาเป็น LAIA ตลาดร่วมตอนใต้ และตลาดร่วมตอนใต้-สหภาพยุโรป ส่วนกรณี FTAA นั้นการศึกษาแสดงผลกระทบไม่ชัดเจน ประเทศไทยจึงสมควรติดตามผลกระทบของการรวมกลุ่มอย่างต่อเนื่องต่อไป กล่าวโดยสรุปไทยมีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าการค้ากับลาตินอเมริกาได้ โดยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์และเทคโนโลยี ตลอดจนการจัดหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับลาตินอเมริกานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น