Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบปริมาณฟลูออไรด์ที่เพิ่มขึ้นในผิวเคลือบฟันน้ำนมและปริมาณฟลูออไรด์ที่ตกค้างในเด็กอายุ 5-6 ปี ภายหลังการเคลือบฟันด้วยแอซิดูเลทเตดฟอสเฟตฟลูออไรด์เจลชนิด 1 และ 4 นาที โดยทันตแพทย์ อาสาสมัครจำนวน 80 คนถูกคัดเลือกมาจากเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลวัย 5-6 ปี จากโรงเรียนในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จากนั้นแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่มโดยใช้อัตราการไหลของน้ำลายเก็บตัวอย่างผิวเคลือบฟันโดยวิธีใช้กรดกัดบริเวณกึ่งกลางฟันด้านริมฝีปากของฟันหน้าตัดน้ำนมซีกลางบน ที่ไม่มีรอยผุหรือรอยโรค ทั้งก่อนเคลือบและทันทีหลังเคลือบ นำตัวอย่างผิวเคลือบฟันที่ได้ไปวิเคราะห์หาปริมาณฟลูออไรด์และปริมาณแคลเซียม ด้วยฟลูออไรด์อิเลคโทรดและเครื่องอะตอมมิกแอบซอพชันสเปคโทรโฟโตมิเตอร์ (atomic absorption spectrophotometer) ตามลำดับ ขณะเคลือบและหลังเคลือบ 45 วินาที ทันตแพทย์ใช้หลอดดูดน้ำลายกำลังสูงดูดน้ำลายและฟลูออไรด์เจลในช่องปากออก หลังจากนั้นให้เด็กบ้วนฟลูออไรด์เจลทีหลงเหลือในช่องปากทิ้งต่ออีก 1 นาที เด็บรวบรวมน้ำลายและฟลูออไรด์เจลที่ได้จากเด็กแต่ละคนไปคำนวณหาปริมาณฟลูออไรด์ที่ตกค้างในเด็ก ผลการวิจัยพบว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในผิวเคลือบฟันน้ำนมที่เพิ่มขึ้นจากการเคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์เจลชนิด 1 นาที ปริมาณเฉลี่ย 2,741.837 ± 180.201 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับฟลูออไรด์เจลชนิด 4 นาที ที่ปริมาณดังกล่าวมีค่าเฉลี่ย 2,745.314 ± 209.677 ส่วนในล้านส่วน ปริมาณฟลูออไรด์ที่ตกค้างทั้งหมดในเด็กภายหลังการเคลือบฟันด้วยเจลทั้งสองชนิดมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 7.610 ± 1.544 และ 8.264 ± 1.480 ตามลำดับ โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) เช่นกัน จากผลการวิจัยในเด็กอายุ 5-6 ปี กลุ่มนี้พบว่า แอซิดูเลทเตดฟอสเฟตฟลูออไรด์เจลทั้งสองชนิดให้ผลเท่าเทียมกันในด้านการเพิ่มปริมาณฟลูออไรด์ในผิวเคลือบฟันน้ำนมและปริมาณฟลูออไรด์ที่ตกค้าง นอกจากนั้นการบ้วนฟลูออไรด์ทิ้งภายหลังการเคลือบฟัน เป็นเวลานาน 1 นาที สามารถลดปริมาณฟลูออไรด์ที่ตกค้างในเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.001)