Abstract:
การศึกษาเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างอำมาตยาธิปไตยกับธนาธิปไตยในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาการเสื่อมคลายลงของระบอบอำมาตยธิปไตยและการกำเนิดขึ้นของระบอบธนาธิปไตยในการเมืองไทย โดยอาศัยปรากฏการณ์ความขัดแย้งในช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วยให้เห็นถึงพัฒนาการของการขับเคี่ยว ต่อสู้ และแข่งขันระหว่างสองระบอบดังกล่าว ผลการศึกษาสรุปได้ว่าปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณนั้นเป็นความขัดแย้งเชิงสถาบันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าอันหมายถึงกองทัพและข้าราชการกับกลุ่มอำนาจใหม่อันหมายถึงนายทุนนักธุรกิจในฐานะนักการเมือง ซึ่งเติบโตและมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่เดิมนั้นจะพบว่าการเข้ามีบทบาททางการเมืองของนายทุนนักธุรกิจเหล่านั้นมักกระทำโดยทางอ้อมเช่นการผลักดันข้อเรียกร้องผ่านหอการค้าและสมาคมการค้า และพัฒนาสู่รูปแบบการผลักดันผ่านภาคีรัฐและสังคมในแบบของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ อย่างไรก็ตามเมื่อบริบททางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อต่อการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองด้วยวิถีทางแบบประชาธิปไตยมากขึ้น นายทุนนักธุรกิจเหล่านั้นก็ได้ตัดสินใจเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองโดยผ่านช่องทางทางตรงมากขึ้นเช่นการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง การให้การสนับสนุนพรรคการเมืองอย่างเปิดเผย การเป็นผู้บริหารพรรค การลงสมัครรับเลือกตั้ง การเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของนายทุนนักธุรกิจดังกล่าวนั้นได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในแง่ของการแสดงบทบาทนำในทางการเมือง รวมถึงการครอบครองผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเก่าในการเมืองไทย ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นดังปรากฏในช่วงของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ซึ่งมีการเผชิญหน้าอย่างชัดเจนและเปิดเผยระหว่างพลังอำนาจเก่าและพลังอำนาจใหม่ และแม้ว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะเป็นความขัดแย้งธรรมดาระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมจะพบว่าความขัดแย้งดังกล่าวนั้นอาจจัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเชิงสถาบันระหว่างพลังทั้งสองกลุ่ม อันเป็นผลมาจากบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของนายทุนและนักธุรกิจในการเมืองไทย