Abstract:
จากการศึกษาพบว่า ระบบการเลือกสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไทยนั้น จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในหลักการ คือ คำนึงถึงความมีชื่อเสียง ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ทางการเมืองของผู้สมัคร ส่วนการจัดลำดับนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะให้ความสำคัญกับผู้บริหารพรรคและเป็นอดีตรัฐมนตรีมาเป็นอันดับต้น พรรคไทยรักไทยไม่ให้ความสำคัญกับลำดับในบัญชีรายชื่อ ส่วนพรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทย และพรรคความหวังใหม่ ซึ่งเป็นพรรคขนาดกลางจะพิจารณาเรียงลำดับตามความสำคัญของตัวบุคคลต่อพรรค การเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคขนาดกลางจะประสบปัญหาในการเลือกสรรบุคคลมาลงบัญชีรายชื่อมาก โดยการ เลือกสรรและจัดลำดับของทั้งห้าพรรคการเมืองมีลักษณะของการต่อรองแลกเปลี่ยนระหว่างผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายส่วนใหญ่จะอยู่ที่หัวหน้าพรรค หรือคณะกรรมการบริหารพรรคเพียง 2-3 คน เท่านั้น แต่ทั้งนี้ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า การเลือกสรรและจัดลำดับของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการ เมืองไทยมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การศึกษาครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดให้การเลือกสรรผู้สมัครสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคอย่างเป็นธรรม โดยควรกำหนดให้ชัดเจนว่า “ภูมิภาค" นั้นหมายความถึงที่อยู่ปัจจุบันหรือภูมิลำเนาของผู้สมัคร และการกระจายตัวอย่างเป็นธรรมนั้นควรมีจำนวนเท่าไหร่ต่อภูมิภาค อีกทั้งควรมีการสร้างจารีตประเพณีทางการเมืองของพรรคการเมืองว่า รัฐมนตรีต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และมีการจัดลำดับตามความสำคัญในบัญชีรายชื่อ โดยผู้ที่มีลำดับต้น ๆ ย่อมมีโอกาสในการเป็นรัฐมนตรีมากกว่าลำดับท้าย