Abstract:
ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ผู้สูงอายุยังมีทางเลือกที่อยู่อาศัยค่อนข้างจำกัดด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ กัน ผู้สูงอายุที่มีฐานะดี มีความรู้ และมีความห่วงใยสุขภาพ เช่น ผู้สูงอายุสมาชิกชมรมอยู่ร้อยปี น่าจะตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัยที่มีต่อการดำเนินชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพสังคม เศรษฐกิจ การดำเนินชีวิตทางสังคม และความคิดเห็นของกลุ่มดังกล่าวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยการออกแบบสอบถามจำนวน 260 ชุดถึงสมาชิกชมรมฯ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี มีสถานภาพสมรสมีบุตร มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป เกษียณอายุราชการ และมีรายได้หลักจากเงินบำนาญ มีรายได้ครอบครัวระหว่าง 20,000-50,000 บาทต่อเดือน ยังสามารถดูแลตนเองได้และให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านสุขภาพเป็นหลัก ที่อยู่ปัจจุบันอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นลักษณะบ้านเดี่ยว โดยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อยู่กับลูกหลานและคู่สมรสในบ้านหลังเดียวกัน ยังคงพักอยู่ชั้นบนของที่อยู่อาศัย และพบว่าไม่มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยทั้งด้านพื้นที่ใช้สอย สภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวก กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยคิดแยกอยู่อาศัยกับลูกหลานเนื่องจากรักและผูกพันกับที่อยู่อาศัยปัจจุบัน ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งมีผู้อยู่อาศัยหลากหลายกลุ่มวัยและอายุไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ควรมีที่ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลหรือต่างจังหวัดซึ่งมีสภาพแวดล้อมดี เป็นลักษณะหลัง ๆ ห่างหรือติดกันบ้าง ไม่ใช่อาคารสูง ควรมีผู้อยู่ร่วมอาศัย และผู้สูงอายุควรมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยไม่ใช่การเช่า บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ควรจัดให้มีส่วนใหญ่เน้นเรื่องสุขภาพ เช่น อาหาร กิจกรรมด้านสุขภาพ แพทย์ตรวจรักษาเป็นระยะ ๆ สวนสุขภาพ และห้องปฏิบัติธรรม
ผู้สูงอายุกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ยิน และ 3 ใน 4 เห็นด้วย กับแนวความคิดในการจัดที่อยู่อาศัยลักษณะชุมชนผู้สูงอายุโดยเอกชน แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งสนใจจะไปอยู่ในชุมชนผู้สูงอายุที่ตนพอใจ เพราะจะได้มีสภาพแวดล้อมที่ดีมีกิจกรรมร่วมกับคนวัยเดียวกัน ได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ และมีความสงบและส่วนตัว ทั้งนี้กลุ่มผู้สนใจไปอยู่ชุมชนผู้สูงอายุนั้นมีลักษณะเฉพาะ เช่น เป็นโสด ไม่มีบุตร มีการศึกษาดี แต่อาจมีกำลังซื้อไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดีกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สนใจการไปอยู่ชั่วคราวในชุมชนผู้สูงอายุคล้ายการพักผ่อนในโรงแรม หรือรีสอร์ทซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของการจัดเตรียมที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับผู้สูงอายุ สรุปได้ว่าแนวความคิดชุมชนผู้สูงอายุเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย อย่างไรก็ดีผู้สูงอายุในการศึกษานี้ส่วนใหญ่ยังเห็นว่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุควรมีลักษณะผู้อยู่อาศัยหลากหลายกลุ่มอายุ และยังคงต้องการอยู่กับลูกหลานในบ้านหลังเดิมต่อไป ดังนั้นจึงเสนอแนะว่า แนวทางการจัดเตรียมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุซึ่งมีกำลังซื้อต้องพิจารณาถึงรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุไทยซึ่งมีความผูกพันกับครอบครัวสูง โดยอาจผสมผสานความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุกับความต้องการของวัยอื่น ๆ ในโครงการที่อยู่อาศัยทั่วไป และเสริมบริการสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งรองรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้มีการเตรียมพร้อมในการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ที่ยังต้องการอยู่อาศัยในที่เดิมสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงปลอดภัย