Abstract:
ไลเคนเป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างรากับสาหร่ายและเป็นดัชนีบ่งบอกถึงความสมดุลของสภาพแวดล้อม โดยความหลากหลายด้านพันธุกรรมของสาหร่ายในไลเคนเป็นเรื่องสำคัญทำให้ทราบถึงบทบาทของสาหร่ายที่อยู่ร่วมกับราเป็นไลเคนในระบบนิเวศ ในงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของสาหร่ายในไลเคน Trypethelium eluteriae ที่พบในประเทศไทยด้วยเทคนิคทางอณูวิทยาโดยเก็บตัวอย่างไลเคนจากในภูมิภาคต่าง ๆ 4 จังหวัด จำนวน 11 ตัวอย่าง ได้แก่ น่าน ระยอง หนองบัวลำภู และกระบี่ จากการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของสาหร่ายในไลเคนจากทุกตัวอย่างที่บริเวณยีน 18S rDNA และ rcbL พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอที่บริเวณยีน 18S rDNA ได้ทั้ง 11 ตัวอย่าง จากการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลใน GenBank พบว่าลำดับนิวคลีโอไทด์ทั้ง 11 ตัวอย่างเป็นสาหร่ายชนิด Trentepohlia cf. annulate โดยค่าดัชนีความเหมือน 100% แสดงให้เห็นถึงความไม่หลากหลายของสาหร่ายในไลเคน Trypethelium eluteriae และจากการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอบริเวณยีน rcbL ได้ 8 ตัวอย่างจากการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลใน GenBank พบว่าลำดับนิวคลีโอไทด์ทั้ง 8 ตัวอย่างเป็นชนิดของต้นไม้ที่ไลเคนอาศัยอยู่ แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งยีน rbcL ไม่จำเพาะต่อชนิดของสาหร่ายเท่านั้น