Abstract:
พื้นที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนใหญ่ในด้านเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ผลิตภัณพ์และสารเคมีในการพัฒนาดังกล่าว โดยกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการปลดปล่อยไนเตรทลงสู่สิ่งแวดล้อมแล้วเกิดการชะหน้าดินทำให้ซึมลงสู่ชั้นน้ำบาดาล แม้ว่าองค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่ามาตรฐานของไนเตรทในน้ำบาดาลเพื่อการบริโภคให้มีปริมาณไม่เกิน 45 มิลลิกรัมต่อลิตร การบริโภคน้ำที่มีปริมาณไนเตรทปนเปื้อนสูงในระยะยาว มีโอกาสทำให้ทารกในครรภ์เกิด โรคบลูเบบี้ (blue baby syndrome) ได้ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรเริ่มตั้งแต่การหาแหล่งกำเนิดของไนเตรท ดังนั้นจุดประสงค์ของการศึกษานี้คือการประเมินแหล่งที่มาของไนเตรท อำเภอสองพี่น้อง โดยพื้นที่ศึกษาประกอบด้วยชั้นน้ำ 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นตะกอนตะพักลำน้ำ (Qt) ชั้นหินปูนหมวดหินทองผาภูมิ (SD) ซึ่งการระบุแหล่งที่มาของไนเตรทสามารถระบุได้ด้วยข้อมูลอุทกธรณีเคมีของน้ำบาดาล ในการศึกษานี้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลจำนวน 13 บ่อ (W1-W13) ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2562 เพื่อวิเคราะห์ปริมาณไอออนบวก (Ca²⁺, Mg²⁺, Na⁺), ปริมาณไอออนลบ (F⁻, CI⁻, NO₃, NO₂, So₄², PO₄³) และความกระด้างในน้ำตัวอย่าง นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลค่าไอโซโทปเสถียรได้แก่ δ¹⁸O, δ²H และ δ¹⁵N ซึ่งเป็นข้อมูลสนับสนุนในการระบุแหล่งที่มาของไนเตรทในน้ำบาดาล จากการศึกษาพบว่าความเข้มข้นของไนเตรทในน้ำบาดาลมีค่าตั้งแต่ 1.91-96.01 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าเฉลี่ย 18.73 มิลลิกรัมต่อลิตร พบว่าบ่อบาดาล W10 ที่มีปริมาณไนเตรทเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด สำหรับค่าไอโซโทปเสถียรในน้ำบาดาลพบว่ามีค่า δ¹⁸O ตั้งแต่ -7.96% ถึง -3.44% สำหรับ δ²H ตั้งแต่ -53.66% ถึง -25.63 และ δ¹⁵N ตั้งแต่ 3.51% ถึง 28.42% จากแผนภูมิไปป์เปอร์แสดงให้เห็นว่าน้ำส่วนใหญ่เป็นชนิด Ca-Na-Cl ซึ่งมีคลอไรด์ไอออนเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมีสาเหตุมาจากการชะล้างบนผิวดินลงสู่ชั้นน้ำบาดาล และจากผลการวิเคราะห์ไนโตรเจนไอโซโทป พบว่าการปนเปื้อนของไนเตรทเกิดจากการปล่อยน้ำเสีย จากครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งกลไกของการปนเปลื้อนไนเตรทที่พบในพื้นที่เกิดจากกระบวนการสร้างไนเตรท (nitrification)