Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาการแสดงของชาวกะเหรี่ยงคริสต์ ซึ่งศึกษาจากเอกสารงานงานที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ครูผู้สอนรำ นักแสดง ประชาชนชาวกะเหรี่ยงและการสังเกตจากการแสดงจริงจำนวน 3 ครั้ง ตลอดจนการฝึกหัดของผู้วิจัยกับครูผู้สอนรำในแต่ละชุด ผลจากการศึกษาพบว่า การแสดงของชาวกะเหรี่ยงคริสต์ มีด้วยกัน 4 ชุด คือ รำตง รำกระทบไม้ไผ่ รำตำข้าว และการแสดงเพลงกล่อมลูก สำหรับการแสดงทั้ง 4 ชุด มีลักษณะเฉพาะกล่าวคือ รำตง เป็นการรำอวยพรของชาย-หญิง โดยรำเป็นคู่ ๆ รำกระทบไม้ไผ่ เป็นการรำของชาย-หญิง จำนวน 20 คน โดยแบ่งเป็นผู้เคาะจังหวะ 12 คน ผู้แสดง 8 คน โดยใช้ไม้ไผ่ จำนวน 12 ลำ เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำดังกล่าว รำตำข้าว เป็นการรำที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงคริสต์ ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการแสดงเพลงกล่อมลูก เป็นการแสดงที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัว การแสดงของกะเหรี่ยงคริสต์บ้านป่าเต็ง จังหวัดเพชรบุรี มีลักษณะที่เหมือนกัน คือ การใช้พลังในการเคลื่อนไหวของเท้า ที่ให้ความรู้สึกหนักและเบาสลับกันไป มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องใช้การก้าวกระโดดไปข้างหน้าและบังคับส่วนของมือและเท้าไม่มากนัก นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่า การรำ 4 ชุด มีลักษณะท่ารำที่แตกต่างกัน โดยมีลักษณะเด่น ดังนี้ รำตงเป็นการก้าวเท้าที่มีช่วงความกว้างระหว่างเท้าทั้งสองข้างระยะสั้นประมาณ 25 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถแตะเท้าไปด้านหน้าด้านข้างได้เท่านั้น และมีการแปรแถวไปด้านหน้าด้านข้าง โดยสลับตำแหน่ง ชาย-หญิง รำกระทบไม่ไผ่ มีการก้าว กระโดดที่เน้นการโน้มลำตัวไปด้านหน้า เพื่อให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวในลักษณะวงกลมทวนและตามเข็มนาฬิกา รำตำข้าว เน้นการใช้เท้าก้าวกระโดด ก้าวเท้าแตะตามจังหวะ ซึ่งผู้แสดงทั้งสองฝ่ายต่างสลับตำแหน่งและหน้าที่กัน โดยเป็นฝ่ายรำและฝ่ายตำข้าว การรำเพลงกล่อมลูก เป็นกิริยาท่าทางการอุ้มลูก การไกวเปลของผู้เป็นพ่อ-แม่ที่แสดงถึงความรัก ความห่วงใยที่มีต่อลูก และอนาคตของชนเผ่า การแสดงของชาวกะเหรี่ยงคริสต์ เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตของกลุ่มชน ดังนั้นจึงควรนำมาเผยแพร่แก่สาธารณชน และอนุรักษ์ไว้เพื่อให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มนี้สืบไป