Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงบรรยายมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเครียดในงานของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลรัฐ กรุงเทพมหานคร ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านองค์การ และปัจจัยด้าน สิ่งแวดล้อม กับความเครียดในงานของพยาบาลประจำการ และศึกษาตัวแปรพยากรณ์ ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านองค์การ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่ร่วมกันทำนายความเครียดในงานของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลรัฐ กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลประจำการ โรงพยาบาลรัฐ กรุงเทพมหานคร จำนวน 384 คน เลือกโดยวิธีสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ อายุ การมีภาระรับผิดชอบในครอบครัว บุคลิกภาพมุ่งความสำเร็จ แบบสอบถามปัจจัยด้านองค์การได้แก่ ความเครียดในบทบาทของพยาบาล สัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ และแบบสอบถามปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาและความเที่ยงแล้วเท่ากับ .82 .80 .78 .95 .59 และ .92 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สหสัมพันธ์เพียรสัน และวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเพิ่มตัวแปรเป็นขั้นตอน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ระดับความเครียดในงานของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลรัฐ กรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับตํ่า 2. ค่าสหสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ อายุ การมีภาระรับผิดชอบในครอบครัว บุคลิกภาพมุ่งความสำเร็จ ปัจจัยด้านองค์การ ได้แก่ ความเครียดในบทบาทของพยาบาล สัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม กับความเครียดในงานของพยาบาลประจำการ มีความสัมพันธ์ในระดับตํ่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ตัวแปรที่สามารถทำนายความเครียดในงานของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลรัฐ กรุงเทพมหานครได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5 คือ อายุ การมีภาระรับผิดชอบในครอบครัว บุคลิกภาพมุ่งความสำเร็จความเครียดในบทบาทของพยาบาล สัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สามารถร่วมกันพยากรณ์ความเครียดในงานของพยาบาลประจำการ ได้ร้อยละ 23.8 โดยมีสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐานดังนี้ ความเครียดในงานของพยาบาลประจำการ = -.282 อายุ +.230 ความเครียดในบทบาทของพยาบาล -.219 สัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ +.133บุคลิกภาพมุ่งความสำเร็จ +.100 สิ่งแวดล้อมในการทำงาน +.102 การมีภาระรับผิดชอบในครอบครัว