Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิหลังทางเศรษฐกิจ และสังคมของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในลักษณะต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.) เดินทางท่องเที่ยวเฉพาะประเทศไทย 2.) เดินทางท่องเที่ยวทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน 3.) เดินทาง ท่องเที่ยวแต่ประเทศเพื่อนบ้าน และทำการศึกษาปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์การเดินทางในแต่ละลักษณะเพื่อนำมาวิเคราะห์ผลทางด้านอุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค โดยในการศึกษาจะใช้ข้อมูลปฐมภูมิที่ได้จากการสำรวจตัวอย่างนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ จำนวน 386 ตัวอย่าง ด้วยการเลือกสิ่งตัวอย่างแบบโควต้าและทำการวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองมัลติโนเมียลโลจิท ประมาณค่าพารามิเตอร์ด้วยวิธีภาวะความน่าจะเป็นสูงสุด (Maximum Likelihood Estimation: MLE) ผลการวิเคราะห์ พบว่า ความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละคนที่มีต่อการท่องเที่ยวแต่ละลักษณะจะมีตัวแปรที่มีผลต่อความน่าจะเป็นตามลักษณะพฤติกรรมการเลือกโดยสามารถเรียงตามลำดับความสำคัญของตัวแปรได้ดังนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางท่องเที่ยวเฉพาะประเทศไทย ตัวแปรประสบการณ์ในการท่องเที่ยวประเทศไทย เพศ รายได้ สัญชาติ อาชีพ และระดับราคาโรงแรมโดยเปรียบเทียบ เป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญ ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เลือกเดินทางท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น ตัวแปรลักษณะกลุ่มผู้ร่วมเดินทาง ประสบการณ์ในการท่องเที่ยวประเทศไทย การรับรู้การส่งเสริมการท่องเที่ยวของกลุ่มอนุภูมิภาค รายได้ เพศ และอาชีพ เป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญ สำหรับผลการวิเคราะห์ทางด้านอุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และกลุ่มอนุภูมิภาคจะได้รับนั้น พบว่า โอกาสในการที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคจะตัดสินใจเลือกเดินทางท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไป โดยเลือกประเทศไทยเข้าร่วมในการเดินทางท่องเที่ยวด้วยมีมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะ ส่งผลในทางบวกต่ออุปสงค์ของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ยังสร้างผลของการกระจายในทางส่งเสริมกันแค่ประเทศสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย