Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความรู้และความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่มีต่อการป้องกันรักษาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาแนวทางที่ถูกต้องในการป้องกันรักษาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ ข้อมูลในการวิจัยเก็บรวบรวมจากเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 100 ราย แต่ได้รับการตอบกลับคืนมาจำนวน 80 ราย และโดยการสังเกต แบบมีส่วนร่วมแล้ว จึงเลือกทำการสัมภาษณ์เจาะลึก จำนวน 6 ราย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบความแปรปรวน,ค่าสหสัมพันธ์ ซึ่งทดสอบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการวิจัยพบว่า 1. เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยที่มีสถานภาพสมรส แตกต่างกันมีความรู้ต่อการป้องกันรักษา วัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุแตกต่างกัน 2. เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานมากจะมีความรู้ต่อการป้องกันรักษาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุมากกว่า เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยที่มีระยะเวลาปฏิบัติงานน้อย 3. เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยที่มีการเข้าร่วมอบรมประชุมสัมมนา ความรู้เกี่ยวกับงานด้านบรรเทาสาธารณภัยและกู้ภัย จะมีความรู้ต่อการป้องกันรักษาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุมากกว่า เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยที่ไม่มีการเข้าร่วมอบรมประชุมสัมมนา 4. เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยที่มีการเข้าร่วมอบรมประชุมสัมมนาความรู้เกี่ยวกับงานด้านนิติเวชหรือด้านการป้องกันรักษาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ จะมีความคิดเห็นต่อการป้องกันรักษาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุมากกว่า เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยที่ไม่มีการเข้าร่วมอบรมประชุมสัมมนา 5. ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยต่อการป้องกันรักษาวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ มีความสัมพันธ์เชิงบวก