Abstract:
การเพิ่มขึ้นของขนาดประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจส่งผลให้ครอบครัวไม่สามารถดูแลบิดามารดาได้เหมือนในอดีต ทำให้มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะถูกละเลยเป็นภาระแก่สังคมมากยิ่งขึ้น สถานสงเคราะห์นับเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาขาดผู้ดูแล การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการอยู่อาศัยและสภาพปัญหาการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ในโครงการบ้านพักคนชราวาสนะเวศม์ ซึ่งให้บริการสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุใน 3 ลักษณะอาคาร รวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน จำนวน 215 ราย โดยใช้วิธีสังเกต บันทึก ถ่ายภาพ และสัมภาษณ์ผู้สูงอายุกลุ่มตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 96 ตัวอย่าง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอเป็นแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุต่อไป จากการศึกษาพบว่า สภาพที่อยู่อาศัยของกลุ่มตัวอย่างแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้ ประเภทสามัญ รับการสงเคราะห์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อยู่ร่วมกันในอาคารแบบโรงเรือนชั้นเดียว ประเภทพิเศษ ต้องชำระค่าใช้จ่ายและแยกพักเป็นส่วนตัวในเรือนพักแบบบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และโครงการบ้านบุศยานิเวศม์ เป็นลักษณะอาคารรวมสูง 2 ชั้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างต้องชำระค่าใช้จ่ายและค่าบริการ โดยส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างประเภทสามัญจะทำกายภาพบำบัดทุกวันที่อาคารกายภาพบำบัด รับประทานอาหารที่โรงอาหารทุกวัน และมักไปร่วมกิจกรรมประจำปีที่อาคารอเนกประสงค์ ส่วนกลุ่มตัวอย่างประเภทพิเศษ และบ้านบุศยานิเวศม์ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ และสวดมนต์ไหว้พระในเรือนนอนของตัวเองทุกวัน ในส่วนสภาพการอยู่อาศัยทางสังคมและเศรษฐกิจ พบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 ประเภท ส่วนใหญ่มีสถานภาพโสด แต่มีกลุ่มตัวอย่างประเภทสามัญและพิเศษที่มีบุตรยังต้องการอยากอยู่คนเดียว ส่วนกลุ่มตัวอย่างในบ้านบุศยานิเวศม์ที่มีบุตรยังอยากอยู่อาศัยกับบุตรหลาน และกลุ่มตัวอย่างประเภทสามัญส่วนใหญ่จะไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งจะแตกต่างกับกลุ่มตัวอย่างประเภทพิเศษและบ้านบุสยานิเวศม์ที่มีรายได้ประจำจาก เงินบำเหน็จ บำนาญ ค่าเช่า และดอกเบี้ยเงินฝาก สำหรับสภาพปัญหาการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุต่อรูปแบบอาคาร กลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 ประเภทส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสมแล้วทั้งในด้านพื้นที่ใช้สอย แต่ประเภทสามัญเห็นควรให้ติดตั้งมุ้งลวด ปรับปรุงเครื่องเรือนและอุปกรณ์ในห้องน้ำที่ชำรุดควรมีทางลาดอยู่ร่วมกับบันไดด้วยทุกที่ และเห็นว่าอาคารเรือนนอนมีปัญหาด้านความหนาแน่นของเตียงและกลิ่นที่ห้องน้ำส่วนกลุ่มตัวอย่างประเภทพิเศษ อยากให้ติดตั้งกริ่งสัญญาณเรียก ปรับทางเดินนอกอาคารให้เรียบและเพิ่มแสงสว่างระหว่างอาคาร รวมทั้งออกแบบให้ระยะทางเดินจากที่พักไปยังพื้นที่ให้บริการส่วนกลางสั้นลง สำหรับกลุ่มตัวอย่างบ้านบุศยานิเวศม์ เห็นว่า ควรเป็นอาคารชั้นเดียว ห้องน้ำลานซักล้างในห้องควรเพิ่มพื้นที่ให้กว้างขึ้น ติดตั้งกริ่งสัญญาณฉุกเฉินในแต่ละห้องและควรปรับปรุงเรื่องแสงสว่างในห้องน้ำและบริเวณระหว่างอาคาร สำหรับข้อเสนอแนะโดยสรุป เห็นควรให้เพิ่มอุปกรณ์ดับเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ควรติดตั้งกริ่งสัญญาณเรียกกรณีฉุกเฉินในทุกอาคาร และออกแบบกลุ่มอาคารส่วนบริการในพื้นที่ส่วนกลาง เช่น อาคารกายภาพบำบัดพยาบาล อาคารอเนกประสงค์ ลานออกกำลังกาย ศาลาธรรม ฯลฯ ให้สามารถเดินถึงได้ง่ายและทั่วถึงโดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย