Abstract:
ชันโรงหรือผึ้งที่ไม่มีเหล็กไนถูกจัดอยู่ในกลุ่มผึ้ง corbiculate ที่มีลักษณะบางประการคล้ายผึ้งให้น้ำหวานแต่มีขนาดที่เล็กกว่า ในธรรมชาติชันโรงมีรูปแบบการดำรงชีวิตแบบสังคมแท้โดยมีนางพญาเพียงหนึ่งตัวต่อรังและมีชันโรงงานที่แบ่งหน้าที่แตกต่างกันในการทำงาน ชันโรงมีความสำคัญในการผสมเกสรดอกไม้ โดยที่เกษตรกรในบางพื้นที่จะนิยมเช่ารังชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตภายในสวน ในปัจจุบันมีชันโรงมากกว่า 500 ชนิดทั่วโลก โดยในประเทศไทยเคยมีรายงานของจำนวนชันโรงทั้งหมด 10 สกุล 32 ชนิด แต่ยังคงมีรายงานการค้นพบชันโรงชนิดใหม่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดที่จังหวัดสตูล อย่างไรก็ตามการศึกษาอนุกรมวิธานของชันโรงยังขาดข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญอีกหลายประการรวมทั้งรูปภาพประกอบและรูปวิธานที่ชัดเจนที่จะสามารถใช้จำแนกชนิดของชันโรงในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องโดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทยที่ยังมีข้อมูลอยู่ไม่มากนัก ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะทบทวนอนุกรมวิธานของชันโรงในภาคใต้ของประเทศไทยโดยศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาจากตัวอย่างที่เก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน และจากตัวอย่างที่เก็บจากภาคสนามในช่วงเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2561 จำนวน 331 ตัวอย่าง จากผลการศึกษาสามารถระบุชันโรงในภาคใต้ของประเทศไทยได้ทั้งหมดจำนวน 7 สกุล 18 ชนิด ชันโรงที่พบทั้ง 7 สกุล ได้แก่ Geniotrigona Moure, 1961 จำนวน 42 ตัว , Homotrigona Moure, 1961 จำนวน 2 ตัว , Heterotrigona Schwarz, 1939 จำนวน 42 ตัว, Lisotrigona Moure, 1961 จำนวน 1 ตัว, Lepidotrigona Schwarz, 1939 26 ตัว, Tetragonula Moure, 1961 จำนวน 204 ตัว และ Tetrigona Moure, 1961 จำนวน 14 ตัว โดยผู้วิจัยได้เขียนคำบรรยายประกอบรูปภาพแสดงลักษณะสำคัญในการระบุชนิด อีกทั้งแสดงการกระจายตัวและสร้างรูปวิธานในการจำแนกชนิดของชันโรงในภาคใต้ ซึ่งผลของการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการศึกษาชีววิทยาของชันโรงที่พบในประเทศไทยต่อไปในอนาคต