Abstract:
เต่ากระ Eretmochelys imbricata เป็นเต่าทะเล 1 ใน 4 ชนิดที่มีการรายงานการขึ้นมาวางไข่บนชายหาดของประเทศไทย เต่ากระถูกจัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ตาม IUCN เนื่องจากแนวโน้มประชากรที่ลดลง ในประเทศไทยพบการทำรังวางไข่ของเต่ากระที่เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเกิดโครงการอนุรักษ์เต่ากระแบบ head-start program ที่เกาะทะลุโดยนำไข่เต่ากระไปเพาะฟักจนออกจากไข่ และอนุบาลลูกเต่าในบ่อเลี้ยงจนแข็งแรงเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต แล้วจึงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การเลี้ยงเต่ากระในบ่อเลี้ยงอาจทำให้เต่ากระมีความเครียดและตอบสนองโดยการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนซึ่งส่งผลกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ดี การใช้ฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนเป็นตัวชี้วัดสุขภาวะในเต่ากระยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนมีความแตกต่างกันตลอดทั้งวัน การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ 1) การเปลี่ยนแปลงในรอบวันของการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรน และ 2) การตอบสนองของฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนต่อการถูกจับและการกระทำที่ทำให้เกิดความเครียด ของเต่ากระในบ่อเลี้ยง ณ เกาะทะลุ โดยเก็บตัวอย่างเลือดทุก 2 ชั่วโมง จำนวน 14 ช่วงเวลาในรอบวัน โดยใช้เต่ากระวัยอ่อน 5 ตัวต่อช่วงเวลา เพื่อใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในรอบวัน และ เก็บตัวอย่างเลือดที่เวลา 0, 30, 60, 120, 240 และ 480 นาทีหลังจากจับตัวเต่ากระวัยอ่อนจำนวน 6 ตัว เพื่อใช้ศึกษาการตอบสนองต่อความเครียด นำตัวอย่างเลือดไปปั่นเหวี่ยงและแยกเก็บพลาสมาในน้ำแข็งระหว่างการเคลื่อนย้าย หลังจากนั้นจึงนำไปเก็บในตู้แช่ –20°C ก่อนนำมาตรวจสอบระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนและกลูโคส ผลของการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนในเต่ากระวัยอ่อนมีความแตกต่างในรอบวันโดยมีระดับสูงสุดในช่วงเริ่มมีแสงแดด (7:30 น.) และมีระดับต่ำสุดในช่วงแสงแดดเริ่มหมด (19:30 น.) ส่วนระดับกลูโคสมีความแตกต่างในรอบวันโดยมีการหลั่งสูงสุดในเวลา 9:30 น. หรือหลังจากระดับฮอร์โมนคอติโคสเตอโรนขึ้นสูงสุด 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่พบสหสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางชีวภาพ แต่พบสหสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนกับกลูโคสที่เวลาต่างกัน 2 ชั่วโมง อีกทั้งยังพบว่าเต่ากระมีการตอบสนองในการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนต่อการกระทำที่ทำให้เกิดความเครียด ผลการศึกษาที่ได้ทำให้เข้าใจถึงสรีรวิทยาเกี่ยวกับความเครียดของเต่ากระในบ่อเลี้ยงได้ดีขึ้น