Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบของชื่ออาหารพร้อมทั้งความหมายตรงและความหมายแฝงของชื่ออาหารไทยจำนวน 63 ซื่อ ที่ใช้ในเทศกาลงานพิธีแบบดั้งเดิมของไทย ผลการวิเคราะห์รูปแบบของชื่ออาหารไทย ซึ่งมีชื่อของหวานจำนวน 44 ชื่อและชื่อของคราวจำนวน 19 ชื่อพบว่ารูปแบบของชื่อของหวานมี 4 รูปแบบได้แก่ 1) ชื่อของหวานที่ประกอบด้วยส่วนหลักเท่านั้น ซึ่งอาจเป็น (คำแสดงลักษณะ/ชื่อเฉพาะ) เช่น เม็ดขนุน กาละแม 2) ชื่อของหวานที่ประกอบด้วยส่วนหลัก (คำแสดงลักษณะ/วัตถุดิบ)+ส่วนขยาย(คำแสดงคุณสมบัติ/กรรมวิธีเฉพาะ) เช่น ทองหยิบ กล้วยฉาบ 3) ชื่อของหวานที่ประกอบด้วยส่วนเสริมหน้า (คำว่า “ขนม”)+ส่วนหลัก(คำแสดงลักษณะ/วัตถุดิบ/วิธีทำ/ชื่อเฉพาะ) เช่น ขนมผิง ขนมชั้น 4) ชื่อของหวานที่ประกอบด้วยส่วนเสริมหน้า (คำว่า”ขนม”)+ส่วนหลัก(คำแสดงลักษณะ/วิธีทำ/ชื่อเฉพาะ)+ส่วนขยาย(คำแสดงคุณสมบัติ) เช่น ขนมต้มแดง ขนมสำปันนีอ่อน ส่วนรูปแบบของชื่อของคาว มี 3 รูปแบบ คือ (1) ชื่อของคาวที่ประกอบด้วยส่วนหลัก(คำแสดงชนิดของคาว) เช่น ห่อหมก (2) ชื่อของคาวที่ประกอบด้วยส่วนหลัก(คำแสดงชนิดของคาว/ชนิดส่วนประกอบหลัก)+ ส่วนขยาย (คำแสดงวิธีทำ/ประเภทย่อย) เช่น ไข่เจียว หมี่กะทิ (3) ชื่อของคาวที่ประกอบด้วยส่วนหลัก(คำแสดงชนิดของคาว/ชนิดส่วนประกอบหลัก)+ส่วนขยาย (คำแสดงวิธีทำ/ประเภทย่อย)+ส่วนเสริมท้าย (คำแสดงส่วนประกอบเสริม) เช่น หมูผัดกุ้ง แกงเลียงนพเก้า ในการวิเคราะห์ความหมายตรงของชื่อของหวาน ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบและพบว่าชื่อของหวานทั้งหมดแตกต่างกันใน 4 มิติ ได้แก่ 1) มิติเรื่อง “อิทธิพลต่างประเทศ” ซึ่งมีอรรถลักษณ์[+ไทย]และ[+อิทธิพลต่างประเทศ] 2) มิติเรื่อง “วิธีการทำ” ซึ่งมีอรรถลักษณ์[+ต้ม], [เปียก], [+นึ่ง], [+ปิ้ง], [+ผัด], [+ทอด], [+กวนแป้ง], [+เข้าไข่เชื่อม], [+อบ/ผิง] และ [+บวด] 3) มิติเรื่อง “วัตถุดิบ” ซึ่งมีอรรถลักษณ์ [+แป้ง], [+น้ำตาล], [+มะพร้าว], [+ข้าวเหนียว], [+ถั่วลิสง], [+ไข่], [+กล้วย], [+งา], [+หัวผักกาด], [+ข้าวตอก, ข้าวเม่า, ถั่ว งา], [+ลูกแป้งข้าวหมาก, น้ำข้าวหมา], [+น้ำดอกอัญชัญ, น้ำมะนาว], [+ข้าวตอก], [+เม็ดแตงโม], [+น้ำวนิลา], [+เกลือ], [+ผงจันทน์เทศ], [+แป้งทองหยอด], [+เม็ดขนุน] และ[+ฟักทอง] และ 4) มิติเรื่อง “คุณสมบัติ” ซึ่งมีอรรถลักษณ์ [+สมลูกติดกัน] สำหรับชื่อของคาวพบความแตกต่างใน 3 มิติ คือ 1) มิติเรื่อง “ประเภท” ซึ่งมีอรรถลักษณ์ [+กับข้าว]และ[+อาหารหลัก] 2) มิติเรื่อง “วิธีการทำ” ซึ่งมีอรรถลักษณ์ [+ต้ม], [+นึ่ง], [+หุง], [+กวน], [+ทอด], [+ตำ]และ[+ผัด] 3) มิติเรื่อง “วัตถุดิบเฉพาะ” ซึ่งมีอรรถลักษณ์ [+กุ้ง], [+ผัก], [+วุ่นเส้น], [+ไก่],[+เครื่องแกง], [+เส้นขนมจีน], [+ข้าว], [+ธัญพืช],[+ไข่], [+กะปิ], [+ปลา], [+ปูทะเล], [+เป็ด], [+มะเขือ], [+เส้นหมี่],[+กะทิ], [+หมู]และ[+หัวหมู] ในการวิเคราะห์ด้านความหมายแฝง เพี่อตีความเรื่องความเชื่อของคนไทย ผู้วิจัยพบค่านิยมและความเชื่อที่สะท้อนอยู่ในชื่อดังกล่าว 7 เรื่อง ได้แก่ ค่านิยมและความเชื่อเรื่อง ความยั่งยืนและยาวนาน ความรักใคร่สามัคคี ความมั่งคั่ง รํ่ารวย ความสวยงาม ความสง่างาม ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ และ ความศรัทธาใน ศาสนา