Abstract:
การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความร่วมมือของผู้ปกครองและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการรักษาเด็กโรคสมาธิสั้น ในแผนกผู้ป่วยนอก หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น แผนกจิตเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 105 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น แบบวัดเจตคติต่อโรคสมาธิสั้น และแบบประเมินความร่วมมือในการรักษา 3 ด้าน คือ การดูแลเรื่องการใช้ยาของเด็กการพาเด็กมาตรวจตามนัด และการปรับพฤติกรรมวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ Unpaired t-test การวิเคราะห์การผันแปรทางเดียว การวิเคราะห์ถดถอย แบบง่าย และการวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบขั้นตอน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการดูแลเรื่องการใช้ยาของเด็กระดับกลางร้อยละ 47.6 ให้ความร่วมมือในการพาเด็กมาตรวจตามนัดระดับสูงร้อยละ 79 และให้ความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมระดับสูงร้อยละ 56.2 และพบว่าปัจจัยทำนายความร่วมมือในการดูแลเรื่องการใช้ยาของเด็ก คือ เจตคติต่อโรคสมาธิสั้นและอายุของผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองที่มีเจตคติต่อโรคสมาธิสั้นระดับสูงและมีอายุมากจะให้ความร่วมมือในการดูแลเรื่องการใช้ยาของเด็กมากกว่าผู้ปกครองที่มีลักษณะตรงกันข้ามอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยทำนายความร่วมมือในการพาเด็กมาตรวจตามนัด คือ เจตคติต่อโรคสมาธิสั้น ระยะเวลาในการรักษา อาชีพ และผลข้างเคียงจากยา โดยผู้ปกครองที่มีเจตคติต่อโรคสมาธิสั้นระดับสูง ระยะเวลาในการรักษาน้อย ไม่ได้ประกอบอาชีพหรือประกอบอาชีพค้าขาย/ธุรกิจ และเป็นผู้ปกครอง ของเด็กสมาธิสั้นที่ไม่เคยได้รับผลข้างเคียงจากยา จะให้ความร่วมมือในการพาเด็กมาตรวจตามนัดมากกว่าผู้ปกครองที่มีลักษณะตรงกันข้ามอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และปัจจัยทำนายความร่วมมือในการปรับพฤติกรรม คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสันและรายได้ของครอบครัว โดยผู้ปกครองที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสันระดับสูงและมีรายได้ของครอบครัวมากจะให้ความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมมากกว่าผู้ปกครองที่มีลักษณะตรงกันข้ามอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05