Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการตั้งถิ่นฐาน สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต และการใช้พื้นที่ของชุมชนริมน้ำคลองอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของรัชกาลที่ 2 และ เป็นชุมชนริมน้ำที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งเสนอแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนริมน้ำดังกล่าว จากการศึกษาพบว่าชุมชนริมน้ำคลองอัมพวา มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยสภาพแวดล้อมชุมชนเป็นบ้านเรือนริมน้ำขนานกับลำคลอง และหันหน้าบ้านหาคลอง สภาพภูมิทัศน์ชุมชนมีความเป็นธรรมชาติ โดยมีสวนมะพร้าวอยู่หลังบ้าน วิถีชีวิตของผู้คนแถบนี้ยังคงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคลอง มีการตัดถนนเข้าสู่พื้นที่ริมน้ำก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนกับพื้นที่แห่งนี้ เริ่มมีการก่อสร้างบ้านเรือน ที่หันหน้าหาถนน และหันหลังให้คลอง ส่งผลให้เอกลักษณ์ด้านการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเริ่มสูญเสีย วิถีชีวิตชุมชนที่สัมพันธ์กับคลองลดน้อยลง ประเพณีทางน้ำเลือนหายไป มีการย้ายของประชาชนสูง แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนริมน้ำคลองอัมพวาจังหวัดสมุดสงคราม ที่เสนอแนะประกอบด้วย 1) การควบคุมการใช้ที่ดินโดยจำแนกพื้นที่ออกเป็นเขตโบราณสถาน เขตอนุรักษ์อาคาร และเขตควบคุมการก่อสร้าง 2) การเชื่อมโยงระบบเครือข่ายการสัญจร โดยปรับปรุงทางเดินเท้าและจุดเชื่อมต่อระหว่างชุมชนสองฝั่งคลองและเชื่อมเส้นทางสัญจรทางน้ำให้เป็นระบบ 3) การอนุรักษ์และปรับปรุงทางกายภาพของอาคารและภูมิทัศน์ริมน้ำ ในด้านรูปแบบ ขนาด ความสูง วัสดุก่อสร้าง และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม 4) การฟื้นฟูทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยฟื้นประเพณีทางน้ำที่เคยมีอยู่ของชุมชน และส่งเสริมให้เป็นแหล่งการท่องเที่ยว