Abstract:
จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด มักประสบกับความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติอยู่เสมอ เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตอากาศแบบมรสุมเขตร้อนจึงมีฝนตกชุก ทำให้ในเกิดภัยธรรมชาติหลายอย่าง ได้แก่ อุทกภัย วาตภัย และ แผ่นดินถล่ม นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงในฤดูการเกษตร ซึ่งทำความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง แก่ราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของพื้นที่ จึงควรมีการวางแผนการใช้ที่ดินที่ เหมาะสม ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยธรรมชาติเหล่านั้น การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) ศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่สัมพันธ์กับการเกิดภัยธรรมชาติ 2.) ศึกษาการใช้ที่ดินและการตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนระบบ สาธารณูปโภค สาธารณูปการในพื้นที่ศึกษา 3) ศึกษาพื้นที่ที่ประสบภัยธรรมชาติ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยในระดับต่าง ๆ 4) เสนอแนวทางการวางแผนการใช้ที่ดินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติดังกล่าว น้อยที่สุด พื้นที่ศึกษาอยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรี พื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำเวฬุ และพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำตราด โดยใช้วิธีการ Parameter & Weighting System ในการวิเคราะห์พื้นที่และระดับความเสี่ยงภัยธรรมชาติ และใช้เทคนิคการ Overlay ในการประมวลผล จากการศึกษาพบว่าปัญหาภัยธรรมชาติในพื้นที่ มีสาเหตุมาจากลักษณะภูมิอากาศ ภูมิประเทศและธรณีวิทยา และการใช้ที่ดิน โดยมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย และแผ่นดินถล่มสูง อยู่บริเวณที่ราบลุ่ม และบริเวณสองฝั่งแม่น้ำ หรือพื้นที่ที่เคยเป็นเหมืองพลอย ส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวาตภัยสูงจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมและลมพายุอย่างเต็มที่ ส่วนภัยแล้งนั้นมีความเสี่ยงภัยระดับตํ่าเท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการใช้ที่ดินไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในการวางแนวทางการใช้ที่ดินเพื่อลดความเสี่ยงภัยธรรมชาติ จึงเสนอให้จัดพื้นที่เป็น กลุ่ม ได้แก่ 1) พื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟู ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่การเกษตร โดยใช้มาตรการด้านการปลูกป่าทดแทน การประกาศเขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมจากเดิม และการฟื้นฟูการใช้ที่ดินบริเวณต้นน้ำเป็นต้น 2) พื้นที่พัฒนา แบ่งออกเป็นพื้นที่พัฒนาเมือง และ พื้นที่พัฒนาทางการเกษตร โดยการวางแผนการเพาะปลูกและจำกัดการปลูกพืช หรือวิธีการเพาะปลูกพืชบางชนิดที่ทำให้มีความเสี่ยงภัยธรรมชาติมากยิ่งขึ้น 3) พื้นที่เฉพาะ ได้แก่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยประเภทต่าง ๆ ในระดับสูง มาตรการที่ใช้มีตั้งแต่การจำกัดการขยายตัวของชุมชน หรือจำกัดกิจกรรมบางประเภทไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นด้น นอกจากนี้ยังรวมถึงวิธีการทางด้านการชลประทาน เช่น การสร้างฝายน้ำล้นขนาดเล็กบริเวณต้นน้ำ เพื่อชะลอความเร็วจากการไหลบ่าของน้ำฝน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการเกิดอุทกภัยได้ในระดับหนึ่งแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดแผ่นดินถล่มบริเวณสองฝั่งลำน้ำ และเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เป็นการแก้ปัญหาการเกิดภัยแล้งได้อีกด้วย