Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดดำเนินงานของโรงงานไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสตรี จังหวัดภูเก็ต โดยมีขอบเขตการศึกษาเฉพาะบริบททางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของภูเก็ตทั้งในช่วงก่อนและในช่วงที่มีการคัดค้านโรงงานแทนทาลัมในปลายปี 2528 จนถึงเหตุการณ์ยุติ โดยมีสมมติฐานว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการใช้ความรุนแรงในกรณีดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นเพราะ การเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับการบรรลุจุดมุ่งหมายมากกว่าความไม่พอใจหรือความโกรธที่เกิดจากความคับข้องใจอันเนื่องมาจากความรู้สึกที่ต้องเผชิญกับอนาคตที่มีความเสี่ยงจากมลพิษถึงขั้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต การศึกษาได้ใช้การสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ คำพิพากษาศาลฎีกา คำให้การของพยานและการสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ผลการศึกษาพบว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นในสถานการณ์ของการชุมนุมที่ไม่มีการจัดการที่ดีพอและเป็นความรุนแรงที่ไม่ได้เตรียมการมาก่อน โดยเงื่อนไขที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในกรณีดังกล่าวประกอบไปด้วย เงื่อนไขของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ ไม่มีความคืบหน้า เงื่อนไขของการชุมนุมที่ขาดการสื่อสารที่ดีมีประสิทธิภาพ และเงื่อนไขของสถานการณ์ในการชุมนุมที่มีผลต่อจิตวิทยามวลชน