Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของชุมชนย่านสามแพร่ง และปัจจัยที่ทำให้ชุมชนดังกล่าวสามารถรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้ เพี่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาที่ สอดคล้อง เหมาะสมกับชุมชนในย่าน โดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนย่านสามแพร่ง ประกอบด้วยชุมชนในพื้นที่แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ จากการศึกษาพบว่า ย่านสามแพร่งมีเอกลักษณ์ด้านกายภาพ ได้แก่ กลุ่มอาคารเก่าที่มีสถาปัตยกรรมตามแบบตึกแถวในสิงคโปร์ ก่อสร้างขึ้นปลายรัชกาลที่ 5 บริเวณแพร่งภูธร และแพร่งนรา มีเอกลักษณ์ด้านสังคม ได้แก่ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในย่านที่มีความต่อเนื่องจากสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญที่สุด ได้แก่ บทบาทหน้าที่การเป็นย่านการค้าและการบริการที่สนองตอบความต้องการแก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นข้าราชการมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดเอกลักษณ์ของการเป็นย่านการค้าและการบริการสำหรับข้าราชการ เนื่องจากพื้นที่ย่านสามแพร่งมีทำเลที่ตั้งล้อมรอบไปด้วยแหล่งผู้บริโภคขนาดใหญ่ ได้แก่ หน่วยงานราชการที่อยู่โดยรอบ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทำงานและผู้มาติดต่อราชการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน แต่ปัจจุบันเพี่อสนองนโยบายอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ในการลดความแออัดของกรุงเทพฯ มีการลดกำลังพลและย้ายหน่วยงานราชการออกจากพื้นที่รอบย่านสามแพร่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ย่านสามแพร่งจึงกลายเป็นย่านพาณิชยกรรมที่เงียบเหงาในช่วงเวลากลางวัน และบางส่วนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนเร่ร่อน และที่ทำงานของหญิงขายบริการในเวลา กลางคืน อีกทั้งปัจจุบันผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินรายใหญ่ทั้งสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเอกชนมีโครงการเพิ่มมูลค่าที่ดินบริเวณดังกล่าว ทำให้ค่าเช่าที่ดินมีแนวโน้มสูงขึ้น กลุ่มผู้อยู่อาศัยและประกอบการเดิมทั้งที่เป็นเจ้าของที่ดิน และผู้เช่ามีแนวโน้มที่จะย้ายออกจากพื้นที่มากขึ้น สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการอยู่อาศัยและประกอบธุรกิจการค้าในย่านต่อไป เป็นกลุ่มคนที่อยู่อาศัยผูกกันกับพื้นที่นี้มานาน และเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีสินค้าและบริการที่มีลักษณะเฉพาะ กลุ่มลูกค้ามิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ข้าราชการ นอกจากนี้ยังเป็นเพราะการคมนาคมขนส่งสะดวกสบาย ระหว่างที่พักอาศัยและที่ทำงาน ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่ของย่านสามแพร่ง ได้แก่ ความสามารถในการพัฒนาประเภทสินค้าและบริการของตนเองให้มีความหลากหลาย แต่มีลักษณะเฉพาะสามารถขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น ความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่น อัตราค่าเช่าที่ดินที่เหมาะสมกับสถานะทางเศรษฐกิจของผู้เช่า และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและเป็นย่านการค้า จะทำให้ชุมชนในย่านสามแพร่งสามารถดำรง วิถีชีวิตอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ แนวทางการพัฒนาย่านสามแพร่ง จึงสรุปได้ 2 แนวทาง คือ 1) แนวทางการพัฒนาบทบาทหน้าที่ด้านพาณิชยกรรม และ 2) แนวทางการพัฒนาบทบาทหน้าที่ด้านอยู่อาศัย โดยใช้กรอบแนวความคิดการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ที่ได้จากศักยภาพ ปัญหา ข้อจำกัดและความต้องการของชุมชนในย่านสามแพร่ง ร่วมกับนโยบาย และโครงการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพี่อให้ ชุมชนในย่านสามแพร่งสามารถดำเนินวิถีชีวิตต่อไปอย่างสอดคล้องเหมาะสม