Abstract:
ในอดีตชุมชนริมน้ำ '‘บางกอก” ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี จะมีการเพาะปลูกทำสวนจนปรากฎเป็นสวนผลไม้ที่มีชื่อชนิดต่าง ๆ อยู่คู่กัน โดยมีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นไปตามแม่น้ำลำคลอง และมีสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติ แต่ผลจากการพัฒนาและการขยายตัวพื้นที่เมืองของกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นเมืองหลวงมหานครได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของชุมชนชาวสวนในฝั่งธนบุรีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สวนเดิมเป็นพื้นที่เมืองของฝั่งธนบุรีโดยภาพรวม และพื้นที่ชุมชนเมืองคลองบางขุนเทียน เขตจอมทอง เป็นพื้นที่เฉพาะ โดยได้ทำการวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพการตั้งถิ่นฐานและการดำเนินชีวิตในพื้นที่สวนเดิม เพื่อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมและรูปแบบที่เป็นไปได้ต่าง ๆ ในการพัฒนาชุมชนเมือง จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ฝั่งธนบุรีได้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากการก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ไนปี พ.ศ. 2475 ส่งผลให้พื้นที่เมืองจากฝั่งพระนครขยายตัวในแนวราบเชื่อมต่อกับพื้นที่ฝั่งธนบุรีโดยอาศัยถนนแนวแกนสำคัญ เช่น ถนนเพชรเกษม ถนนเอกชัย ถนนพระรามที่ 2 ในการเปิดพื้นที่เมืองประเภทต่าง ๆ ประกอบกับการขยายตัวทางด้านการค้า บริการ และอุตสาหกรรมจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในขณะที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครไม่สามารถควบคุมการขยายตัวของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุดังกล่าวย่อมส่งผลให้พื้นที่สวนเดิมลดลง และทำให้วิถีชีวิตแบบชาวสวนในอดีตได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นวิถีชีวิตแบบชาวเมืองในปัจจุบันแทบจะทุกพื้นที่ ผลจากการวิเคราะห์และประเมินดังกล่าวจึงได้เสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่สวนเดิม คือ ในระดับกรุงเทพมหานครและพื้นที่ฝั่งธนบุรี ควรกำหนดนโยบายและเป้าหมายการใช้ที่ดินประเภทเกษตรกรรมในผังเมืองรวมให้ ชัดเจน และทบทวนโครงการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ ระดับส่วนเมืองและย่านของเขตจอมทอง เสนอให้มีการกำหนดเขตการใช้ที่ดินทางเกษตรกรรม การวางผังเฉพาะ รวมทั้งการพื้นฟูสภาพภูมิทัศน์เครือข่ายคูคลอง และสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาพัฒนาด้านการท่องเที่ยวส่วนในระดับชุมชนควรเพิ่มความหนาแน่นของการใช้ประโยชน์ที่ดิน พัฒนาเป็นพื้นที่จัดสรรชั้นดี โดยกำหนดมาตรฐานและใช้มาตรการทางกฎหมายสนับสนุน เช่นเดียวกับการพัฒนาพื้นที่สวนเดิมเป็นการทำเกษตรกรรมเข้มข้น เกษตรกรรมทางเลือก เกษตรกรรมท่องเที่ยว หรือสวนเกษตรจัดสรร ตลอดจนการจัดการทางด้านทัศนคติเพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและหวงแหนในอาชีพของบรรพบุรุษ