Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอันเกี่ยวกับการโฆษณา และศึกษาวิเคราะห์กฎหมายและการกำกับดูแลการโฆษณาเปรียบเทียบในปัจจุบันของประเทศไทย ตลอดจนนำเสนอประเด็นปัญหาของการโฆษณาเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นในอดีตจวบจนปัจจุบัน ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพอันเกี่ยวเนื่องกับการโฆษณา ได้แก่ เสรีภาพในการโฆษณา สิทธิในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล และเสรีภาพทางการค้า โดยกาโฆษณาเปรียบเทียบเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการโฆษณาและเสรีภาพทางการค้าของบุคคล อีกทั้งผู้บริโภคก็มีสิทธิที่จะได้รับรู้ถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจากการโฆษณาเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกอุปโภคบริโภค จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ไม่มีบทบัญญัติใดของ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยการโฆษณาที่ห้ามทำการโฆษณาเปรียบเทียบ แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมการโฆษณาได้มีแนวปฏิบัติแตกต่างกันในเรื่องนี้ นอกจากนั้นการโฆษณาเปรียบเทียบที่เป็นการนำเสนอข้อมูลโดยมุ่งหวังผลทางการค้า และทำให้ผู้ถูกกล่าวเปรียบเทียบที่เป็นคู่แข่งทางการค้าได้รับความเสียหาย เช่น ทำให้ยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการลดลง หรือทำให้ผู้บริโภคลดความเชื่อถือไว้วางใจต่อสินค้าหรือบริการ จึงมักพบกรณีพิพาทที่ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะละเมิด มาตรา 420 โดยกล่าวอ้างว่า การโฆษณาเปรียบเทียบทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกกล่าวเปรียบเทียบ จากปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย และแนวคิดของผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกเปรียบเทียบซึ่งนำบทกฎหมายทั่วไปมาเป็นมูลเหตุในการฟ้องร้องคดีละเมิด ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะให้มีการกำหนดกรอบและแนวทางในการโฆษณาเปรียบเทียบให้เกิดความชัดเจน เพื่อเป็นการรับรองว่า การโฆษณาเปรียบเทียบเป็นเสรีภาพที่กฎหมายให้การคุ้มครอง ภายใต้หลักกการพื้นฐานที่ว่า การโฆษณาเปรียบเทียบจะต้องกระทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยความซื่อสัตย์และเหมาะสม และจะต้องมีจิตสำนึกต่อประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ อีกทั้งต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม