Abstract:
การเจรจารอบอุรุกวัยได้มีการเจรจาเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนำไปสู่ความตกลง TRIPS เนื่องจากประเด็นเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีความเชื่อมโยงและความขัดแย้งกับการค้าสินค้าระหว่างประเทศด้วย กล่าวคือ สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ซึ่งได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะมีทั้งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิในทรัพย์ตามหลักกรรมสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความทับซ้อนและขัดแย้งระหว่างสิทธิของผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ ตัวอย่างเช่น การที่ผู้ทรงสิทธิจะใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนในการห้ามการนำเข้าซ้อน (parallel import) ผลิตภัณฑ์ซึ่งได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น จะสามารถกระทำได้หรือไม่ เป็นต้น การวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาและวิเคราะห์หลักการระงับซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักการระงับซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศ (National Exhaustion) หลักการระงับซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค (Regional Exhaustion) และหลักการระงับซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (International Exhaustion) โดยจะศึกษาถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาศาล และแนวทางการปรับใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ยังศึกษาถึงปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเพื่อวิเคราะห์รูปแบบของหลักการที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยการศึกษานี้จะจำกัดอยู่เฉพาะในบริบทของสิทธิบัตร สิทธิบัตรพืช และพันธุพืช
ผู้ศึกษาสรุปได้ว่า หลักการระงับซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมกับระบบกฎหมายของประเทศไทย ได้แก่ หลักการระงับซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ โดยมีเหตุผล ดังนี้ (1) หลักการดังกล่าวก่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งแก่ผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และผู้เป็นเจ้าของสินค้า ซึ่งได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ดังปรากฏตามหลักการขายครั้งแรก (2) หลักการดังกล่าวทำให้อำนาจผูกขาดของผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวลดลง และทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้สินค้าทดแทนสมบูรณ์ได้ในราคาที่ต่ำ (3) ทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการนำเข้าสินค้าทุนที่ใหม่ และทันสมัย ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดทางเทคโนโลยีในรูปแบบของการนำเข้าสินค้าทุน