Abstract:
การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ภายใต้พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 นั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดหลักทรัพย์ กล่าวคือผู้จำหน่ายสินทรัพย์จะนำสินทรัพย์ที่ตนมีอยู่เหนือลูกหนี้ตามสัญญาประเภทต่าง ๆ หรือคาดว่าจะมีขึ้นในอนาคตค่อนข้างแน่นอนซึ่งล้วนแต่มีสภาพคล่องตํ่าและเปลี่ยนมือได้ยากมารวมเป็นกองสินทรัพย์จำหน่ายแก่นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งทำหน้าที่นำสินทรัพย์เหล่านั้นมาประกันหลักทรัพย์ที่นำออกจำหน่ายแก่ผู้ลงทุนจนทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินและเปลี่ยนมือได้ง่ายในที่สุด อันเป็นการเพิ่มแหล่งระดมเงินทุนแหล่งใหม่ขึ้นมานอกเหนือจากการกู้ยืมเงินแบบดั้งเดิม โดยถ้าเป็นธุรกรรมที่ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว ผลคือธุรกรรมนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองตามพระราชกำหนดอีกด้วย แต่ ณ เวลานี้แม้ว่าพระราชกำหนดดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับหลายปีแล้วแต่กลับไม่มีการทำธุรกรรมภายใต้พระราชกำหนดนี้เลยและเท่าที่ทำอยู่ก็ทำนอกพระราชกำหนดซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก จากการศึกษาวิจัยพบว่า ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้จะได้ลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคไปมากแล้วก็ตาม แต่ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 ก็ยังคงมีอยู่ซึ่งสามารถ จำแนกได้ 4หัวข้อ ดังนี้ 1. ปัญหาเกี่ยวกับวิธีการ จำหน่ายสินทรัพย์ (Method of Transfer of Assets) 2. ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Future Flow Receivables) 3. ปัญหาเกี่ยวกับการจดทะเบียนจำนอง (Re-Registration of Mortgage) 4. ปัญหาเกี่ยวคับความเสี่ยงตามกฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ (Bankruptcy and Reorganization Risks) ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้เขียนจึงได้เสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหากฎหมายต่าง ๆ ข้างต้นเป็นลำดับ ดังนี้ 1. กำหนดให้นำวิธีบอกกล่าวการโอนด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือหนังสือพิมพ์รายวันมาใช้ในธุรกรรมดังกล่าวได้เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือในกรณีที่มีลูกหนี้จำนวนมากไม่จำต้องคอยบอกกล่าวการโอนแก่ลูกหนี้ทีละคน และสามารถคุ้มครองประโยชน์ของลูกหนี้ในแง่ที่สามารถชำระหนี้แก้เจ้าหนี้อย่างไม่ผิดตัวได้เช่นกัน 2. กำหนดให้โอนสิทธิเรียกร้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือสินทรัพย์ในอนาคตแบบแท้ได้ โดยระบุวิธีการโอนไว้โดยเฉพาะด้วยเนื่องจากสินทรัพย์ในอนาคตแบบแท้ไม่ได้มีการรองรับไว้ในกฎหมายไทยให้โอนกันได้ 3. กำหนดให้ขัดเจนไปว่า กรณีโอนสิทธิเรียกร้องที่มีจำนองเป็นประกัน นิติบุคคลเฉพาะกิจผู้รับโอนไม่จำต้องจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับจำนองใหม่อีกแต่อย่างใด อันช่วยไม่ให้เกิดการตีความปัญหากฎหมายกันอีก และสะดวกต่อการทำธุรกรรมมากยิ่งขนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีลูกหนี้จำนองจำนวนมาก 4. กำหนดให้ยกเลิกมาตรา 20 แห่งพระราชกำหนดนี้เนื่องจากมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้ถูกแก้ไขในสาระสำคัญแล้วอันมีผลยกเลิกมาตราดังกล่าวโดยปริยาย ฉะนั้นจึงควรบัญญัติใหม่โดยให้อำนาจคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 113 และมาตรา 90/40หรือให้เปรียบเข้าหนี้ตามมาตรา 115 และมาตรา 90/41 แทนเพื่อป้องกันปัญหาการตีความในเรื่องดังกล่าวขึ้นในอนาคต