Abstract:
กระบวนการสอบทานงบการเงินของผู้ตรวจสอบภายในทำได้หลายวิธี เช่น การสอบถาม การยืนยันยอดการตรวจสอบเอกสารโดยละเอียด รวมทั้งการวิเคราะห์เปรียบเทียบซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในกระบวนการสอบทานงบการเงินเพื่อสืบหาข้อบ่งชี้ถึงข้อผิดพลาดในงบการเงิน จึงเป็นเหตุให้งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาถึงวิธีการสอบทานงบการเงิน ระดับนัยสำคัญ ของข้อบ่งชี้ถึงข้อผิดพลาดในงบการเงินจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบ รวมถึงผลกระทบจากข้อบ่งชี้ถึงข้อผิดพลาดในงบการเงินที่มีต่อความเสียงของกิจการ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บ รวบรวมข้อมูลสำหรับการศึกษา ขอบเขตการวิจัยครั้งนี้ศึกษาเฉพาะสถาบันการเงินที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 3 หมวดธุรกิจ คือ ธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์ และ ประกันภัย เนื่องจากธุรกิจสถาบันการเงินมีโครงสร้างที่ซับซ้อน และเป็นที่สนใจในสายตาของนักลงทุนและสาธารณชน จากการศึกษาพบว่าการวิเคราะห์เปรียบเทียบเป็นกระบวนการหนึ่งที่ผู้ตรวจสอบภายในของกลุ่มสถาบันการเงินใช้ในการสอบทานงบการเงินมากที่สุด เนื่องจากสามารถชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติที่อาจบ่งชี้ว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในงบการเงินได้ เมื่อศึกษาระดับนัยสำคัญของข้อบ่งชี้ถึงข้อผิดพลาดในงบการเงินพบว่าผู้ตรวจสอบภายในของสถาบันการเงินให้ความสำคัญอย่างมากในการเข้าไปตรวจสอบโดยละเอียดหากมีการเปลี่ยนแปลงในรายจ่ายอย่างเป็นสาระสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในปีที่ผ่านมา และผลการศึกษาพบว่า หากเกิด การเปลี่ยนแปลงในรายจ่ายอย่างเป็นสาระสำคัญ มีผลกระทบต่อความเสี่ยงทางการดำเนินงานของธุรกิจในเรื่อง การทำให้ข้อมูลทางบัญชี ผิดพลาด ลำดับความสำคัญ ของข้อบ่งชี้ถึงข้อผิดพลาดในงบการเงินรองลงมาคือ อัตราส่วนทางการบัญชีมีลักษณะผิดปกติ ผลการศึกษาพบว่า อัตราส่วนรายได้ต่อลูกหนี้การค้าตํ่าผิดปกติเมื่อเทียบกับกิจการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันมีผลกระทบต่อความเสี่ยงทางการเงินและการดำเนิน งานต่อกิจการ ดังนั้นผู้ตรวจสอบภายในควรนำข้อบ่งชี้ถึงข้อผิดพลาดในงบการเงินดังกล่าวไปพิจารณาหากเกิดขึ้นในกิจการ เพื่อสืบหาการทุจริตและความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานที่อาจเกิดขึ้น และหากระบวนการป้องกันแก้ไขต่อไปในอนาคต