Abstract:
ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายบมุ่งเน้นเพียงการนำตัว ผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยใช้เรือนจำซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจากผู้กระทำผิดในคดีนี้มิได้มีเจตนาและจิตใจชั่วร้าย นอกจากนี้ผู้เสียหาย ยังต้องดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาด้วยตนเองเพื่อเรียกร้องสิทธิในการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยในคดีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่มีประสิทธิภาพ ประสบปัญหาปริมาณคดีและการกระทำความ ผิดซ้ำ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตอุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในคดีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยได้นำรูปแบบและการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของต่างประเทศมาศึกษาวิเคราะห์ ซึ่งพบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้รูปแบบการไกล่เกลี่ยในชั้นอัยการและศาล ในขณะที่ประเทศแคนาดาได้ใช้รูปแบบการล้อมวงในชั้นศาลเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการนำกระบวน การยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้เสริมในกระบวนยุติธรรมทางอาญาของไทยแล้วพบว่าควรที่จะนำรูปแบบการไกลเกลี่ยมาใช้ เนื่องจากเป็นรูปแบบนี้มีความยืดหยุ่น และสามารถใช้กับความผิดได้หลากหลายแม้จะเป็นความผิดร้ายแรงก็ตาม นอกจากนี้รูปแบบดังกล่าวยังไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติ ฉะนั้นเพื่อให้แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สภาพสังคมและวัฒนธรรมของไทย ผู้เขียนจึงเห็นควรว่าการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กับคดีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายในประเทศไทยนั้นสามารถที่จะนำมาใช้ในชั้นอัยการและชั้นศาล ซึ่งในชั้นอัยการนั้น อัยการอาจนำวิธีการชะลอการฟ้องมาใช้ปฏิบัติโดยจะระงับการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นการชั่วคราวก่อน และจัดให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย หากคู่กรณีสามารถตกลงกันได้เป็นผลสำเร็จ ผู้กระทำผิดจะได้รับการชะลอการฟ้องไว้ ภายใต้การคุมประพฤติหรือดำเนินกิจกรรมตามที่กำหนด สำหรับในชั้นศาลนั้นการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถนำมาใช้ได้โดยอาศัยบทบัญญัติตามมาตรา 56 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้อำนาจแก่ศาลตามที่เห็นสมควรในการกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อเป็นการแก้ไขฟื้นฟู หรือป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย และชุมชนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง อันเป็นไปตามวัตอุประสงค์ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่สามารถช่วยบรรเทาความเสียหายแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซํ้า ส่งผลให้คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาเป็นอันระงับ ช่วยลดปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาล ก่อให้เกิดความสันติสุขและความสมานฉันท์ในสังคม