Abstract:
ถนนท่าแพเป็นถนนสายหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ทั้งการเป็นถนนสายเศรษฐกิจการค้า และถนนสายหลักสำหรับประกอบพิธีการสำคัญ ๆ ของเมือง ถนนสายนี้มีการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ.1839 แต่ในปัจจุบันถนนท่าแพกำลังสูญเสียเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าที่ถูกทดแทนและบดบังด้วยอาคารสูง และอาคารสมัยใหม่ที่มีรูปแบบขัดแย้งกับอาคารเก่า การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการออกแบบอาคารใหม่บนถนนท่าแพโดยทำการรวบรวมข้อมูลทางกายภาพ ซึ่งใช้วิธีการสำรวจและบันทึกภาพ ค้นคว้าข้อมูลประกอบ ทั้งแนวคิด ทฤษฎีและกรณีศึกษา รวมถึงแผน นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ศึกษา เพี่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ปัญหาและสรุปเพี่อเสนอเป็นแนวทางการออกแบบอาคารใหม่บนถนนสายนี้ จากการศึกษาพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับอาคารเก่าที่มีคุณค่าเป็นปัญหาทางด้านมุมมองโดยแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ 1) ปัญหาการเปลี่ยนแปลงอาคารเก่า และ 2) ปัญหาความไม่สัมพันธ์กันระหว่างอาคารใหม่กับอาคารเก่า ดังนั้นผู้วิจัยจึงทำการคัดเลือกอาคารเก่าที่มีคุณค่า 22 หลังจากทั้งหมด 94 หลังมาทำการวิเคราะห์เพี่อหาเอกลักษณ์ของอาคารบนถนนท่าแพ ซึ่งพบว่าอาคารเก่าที่มีคุณค่าทั้ง 4 ประเภทได้แก่ บ้านไม้ชั้นเดียว บ้านไม้สองชั้น อาคารไม้ปนตึก และอาคารคอนกรีต ต่างมีความสัมพันธ์กันทางองค์ประกอบอาคารซึ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์โดยรวมของถนนสายนี้ ผลการวิเคราะห์สามารถสรุปเป็นข้อเสนอแนะได้ 2 รูปแบบคือ แนวทางการออกแบบอาคารใหม่โดยไม่ได้ระบุประเภทอาคารซึ่งเกณฑ์ในการเสนอรูปแบบนั้น ผู้วิจัยทำการเสนอโดยคำนึงถึงเอกลักษณ์ที่พบจากการวิเคราะห์ซึ่งได้แก่ 1) ระยะถอยร่นของอาคารที่เท่ากัน 2) อาคารมีทิศทางในแนวแกนนอน 3) เส้นระดับกันสาดและชายคาที่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงก้น 4) ความกว้างของอาคาร กว้างไม่เกิน 5 คูหา 5) ประตูหน้าต่างชั้นบน ส่วนใหญ่เป็นช่องเปิดรูปแบบตั้งเดิม 6) วัสดุโดยรวมเป็นกระเบื้องดินเผา ไม้ ปูนฉาบ และ 7) สีอาคารโดยส่วนใหญ่เป็นสีนํ้าตาล สีขาว และสีเทา สำหรับข้อเสนอแนะอีกรูปแบบหนึ่งได้แก่ แนวทางการออกแบบอาคารใหม่ 4 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วย บ้านไม้ชั้นเดียว บ้านไม้สองชั้น อาคารไม้ปนตึก และอาคารคอนกรีต เป็นการเสนอแนะโดยคำนึงถึง ขนาดของอาคาร สัดส่วนอาคาร ทรงหลังคา แนวระดับกันสาด ระเบียงและชายคา วัสดุอาคาร และสีอาคาร