Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบปฏิสัมพันธ์และกลไกของการผสมผสานของชุมชนในพื้นที่ขยายตัวด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างเมืองใหญ่กับพื้นที่โดยรอบมีการ ใช้ที่ดินแบบเมืองและชนบทปะปนกันไปตามเส้นทางคมนาคม โดยใช้แนวคิดองค์ประกอบของการตั้งถิ่นฐานของ Ekistics ศึกษาลักษณะชุมชนจากรูปแบบปฏิสัมพันธ์และกลไกการผสมผสานทางสังคมของชุมชนตามแนวคิดชุมชน 2 ขั้ว ที่มีการเคลื่อนไหวจากความเป็นชนบทไปสู่เมือง เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาด้วยวิธีการสำรวจไนลักษณะภาคตัดขวาง ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพประกอบกัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสำรวจและแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง กลุ่มตัวอย่างศึกษาได้แก่ชุมชนในพื้นที่เทศบาลตำบลประชาธิปัตย์ เทศบาลตำบลคลองสอง ตำบลเชียงรากใหญ่และตำบลพืชอุดม หน่วยในการวิเคราะห์มี 3 ระดับคือ ระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน การวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านกายภาพใช้วิธีการซ้อนทับแผนที่ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ข้อมูลเชิงปริมาณใช้การหาค่าความถี่ ร้อยละ ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยการทดสอบ t-test และการวิเคราะห์ความแปรปรวนด้วยการทดสอบ F-test ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนในพื้นที่ขยายตัวด้านเหนือของกรุงเทพมหานครมีการเคลื่อนไหวจากความเป็นชนบทไปสู่เมือง แตกต่างกันตามปัจจัยทางกายภาพได้แก่สภาพทางภูมิศาสตร์และทำเลที่ตั้ง ระยะทางที่ใกล้-ไกลกับเมืองใหญ่ ความหนาแน่นของโครงข่ายที่เข้าถึงพื้นที่ ชุมชนที่ใกล้กับเมืองใหญ่ที่มีความเข้มข้นและความหลากหลายของกิจกรรมทุกประเภทปะปนกันในพื้นที่และตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายหลักและ/หรือสายรองที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวก ชุมชนที่มีระยะห่างไกลออกไปมืความหลากหลายของกิจกรรมลดลงและมีความหลากหลายน้อยลงเมื่อไกลออกไปตามพื้นที่เกษตรกรรมหรือริมคลองแต่มีโครงข่ายถนนสายรองเชื่อมโยงเข้าสู่ถนนสายหลักได้ นอกจากนี้ยังแตกต่างกันตามปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ อายุ เพศ ศาสนาการศึกษา อาชีพ รายได้และระยะเวลาการอยู่อาศัย ในแต่ละชุมชนมีประชากร 2 กลุ่มใหญ่คือประชากรตั้งเดิมและประชากรย้ายถิ่นแบ่งชุมชนได้ 3 ลักษณะตามการเคลื่อนไหวจากความเป็นชนบทไปสู่เมืองจากทำเลที่ตั้งที่ไกลเมืองใหญ่เข้ามาใกล้เมืองมากขึ้น ได้แก่ 1) ชุมชนที่มีความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เบาบาง ส่วนใหญ่เป็นประเภทที่อยู่อาศัย ตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนตั้งเดิมมีคนต่างถิ่นน้อยมากหรือแทบไม่มี มีรูปเแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบชนบท มีความสัมพันธ์กันแบบญาติ ทั้งในครอบครัวและในกลุ่มเพื่อน มีระดับการผสมผสานทางสังคมสูงและกลไกการผสมผสานทางสังคมเป็นแบบไม่เป็นทางการเป็นส่วนใหญ่ 2) ชุมชนที่มีความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดินหลากหลายมากกว่าชุมชนลักษณะแรกประชากรดั้งเดิมเริ่มมีรูปแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ค่อนมาทางเมืองมากขึ้น ระดับการผสมผสานทางสังคมมีค่อนข้างสูงและมีกลไกการผสมผสานทั้งแบบไม่เป็นทางการและแบบเป็นทางการ ส่วนประชากรที่ย้ายถิ่นเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบเมืองโดยมีเป้าหมายเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการอยู่อาศัยและการทำงาน 3) ชุมชนที่มีความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงและ มีความหลากหลายกิจกรรมในพื้นที่มาก ในกลุ่มประชากรตั้งเดิมแทบไม่ปรากฎรูปแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบชนบทแล้ว ในขณะที่กลไกการผสมผสานทางสังคมมีทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ กลุ่มประชากรที่เป็นคนย้ายถิ่นรูปแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบเมืองที่มีเป้าหมายการอยู่อาศัยเข่นเดียวกับกลุ่มผู้ย้ายถิ่นในชุมชนลักษณะที่ 2 มีระดับการผสมผสานทางสังคมในชุมชนลักษณะนี้มีระดับตํ่าและมีกลไกการผสมผสานทางสังคมแบบเป็นทางการเป็นส่วนใหญ่