Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมและศึกษาเปรียบเทียบบททำขวัญ. และบทบาทและการดำรงอยู่ของพิธีทำขวัญของกลุ่มคนไทย ไทยพวน และไทยเขมร ที่อำเภอพนมสารคาม และอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยรวบรวมและศึกษาข้อมูลที่ตำบลเมืองเก่า ตำบลหนองยาว และตำบลดงน้อย และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง จากการรวบรวม ผู้วิจัยพบว่าประเพณีการทำขวัญที่เคยปฏิบัติมาในอดีตของกลุ่มคนไทย ไทยพวน และไทยเขมร แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ พิธีทำขวัญที่เกี่ยวกับชีวิต พิธีทำขวัญที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรม และพิธีทำขวัญที่เกี่ยวกับเรือน ทุกพิธีจะมีบททำขวัญประกอบ จากการศึกษาเปรียบเทียบบททำขวัญทั้งสำนวนมุขปาฐะและลายลักษณ์ของคนไทย ๒๕ สำนวน คนไทยพวน ๓๑ สำนวน และคนไทยเขมร ๒๙ สำนวน พบว่าทั้ง ๓ กลุ่มชน ใช้บททำขวัญภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นกลุ่มคนไทยพวนที่ใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาพวน และยังพบว่าบททำขวัญที่เกี่ยวกับชีวิตมีโครงสร้างหลักร่วมกัน ๓ ส่วน แบ่งเป็น บทนำ ได้แก่ บทบูชาพระรัตนตรัยและบทชุมนุมเทวดา บทดำเนินเรื่อง ได้แก่ บทสอนและบทเรียกขวัญ และบทจบนิยมใช้บทให้พร ผู้วิจัยพบว่า พิธีทำขวัญที่ยังคงปฏิบัติในปัจจุบันอยู่ทั้ง ๓ กลุ่มชน มี ๒ ประเภท คือ พิธีทำขวัญที่เกี่ยวกับชีวิต ได้แก่ พิธีทำขวัญนาค พิธีทำขวัญทิดสึกใหม่ และพิธีทำขวัญบ่าวสาว และพิธีทำขวัญที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรม ได้แก่ พิธีทำขวัญข้าว แต่ละกลุ่มชนต่างมีประเพณีการทำขวัญที่แสดงให้เห็นบทบาทในการสร้างความสามัคคีในชุมชน และรักษาวัฒนธรรมของกลุ่มตน ขณะเดียวกันก็พบว่าหมอขวัญไทยพวนและไทยเขมรก็รับบททำขวัญและพิธีทำขวัญบางส่วนจากหมอขวัญไทยมาปรับใช้ ประเพณีการทำขวัญจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ของชนทั้ง ๓ กลุ่ม ให้มีความกลมกลืนกัน นอกจากนี้ยังมีบทบาทให้กำลังใจและความอบอุ่นใจ สั่งสอนศีลธรรมและจริยธรรม ควบคุมสังคม และให้ความเพลิดเพลินอีกด้วย ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของประเพณีการทำขวัญมี ๖ ประการ ได้แก่ ความเชื่อเรื่องขวัญ ค่านิยม เรื่องระบบอาวุโสและความกตัญญู จำนวนหมอขวัญ ภาษาในบททำขวัญ พิธีกรรมที่เอื้อต่อการทำขวัญ สภาพ ชุมชนและขนาดชุมชน