Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น2 ส่วน โดยมีวัตถุประสงค์และผลการวิจัย ดังนี้ การวิจัยส่วนที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสื่อสารและความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้สมรส และเปรียบเทียบการสื่อสารและความพึงพอใจในชีวิตสมรสของผู้สมรสที่มีภูมิหลังแตกต่างกันในด้าน เพศ อายุ ระยะเวลาการสมรส จำนวนบุตร ระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครอบครัว โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สมรสจำนวน 325 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบวัดการสื่อสารและความพึงพอใจในชีวิตสมรสวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์สถิติพื้นฐานวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และวิเคราะห์เปรียบเทียบพหุคูณ ด้วยวิธีของ Dunnett’s T3 ผลการวิจัย พบว่า 1. ผู้สมรสใช้การสื่อสารแบบสอดคล้องและแบบยึดติดเหตุผลในระดับปานกลางใช้การสื่อสารแบบคล้อยตามและแบบเฉไฉในระดับค่อนข้างน้อย และใช้การสื่อสารแบบตำหนิผู้อื่นในระดับน้อย และมีความพึงพอใจในชีวิตสมรสในระดับสูง 2. ผู้สมรสหญิงใช้การสื่อสารแบบสอดคล้องมากกว่าผู้สมรสชาย ผู้สมรสที่มีระยะเวลาการสมรส 2-10 ปี ใช้การสื่อสารแบบสอดคล้องมากกว่าผู้สมรสที่มีระยะเวลาการสมรส 11-25 ปี ผู้สมรสที่ไม่มีบุตรใช้การสื่อสารแบบสอดคล้องมากกว่าผู้สมรสที่มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้สมรสที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีใช้การสื่อสารแบบสอดคล้องมากกว่าผู้สมรสที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพลงไป และผู้สมรสที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 10,000 บาทต่อเดือนใช้การสื่อสารแบบสอดคล้องมากกว่าผู้สมรสที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตํ่ากว่า 10,000 บาทต่อเดือน 3. ผู้สมรสที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปใช้การสื่อสารแบบยึดติดเหตุผลมากกว่าผู้สมรสที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพลงไป และผู้สมรสที่มีรายได้เฉลี่ย 30,001 - 60,000 บาทต่อเดือนใช้การสื่อสารแบบยึดติดเหตุผลมากกว่าผู้สมรสที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตํ่ากว่า 10,000 บาท ต่อเดือน 4. ผู้สมรสที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีความพึงพอใจในชีวิตสมรสมากกว่าผู้สมรสที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพลงไป โดยภาพรวมผู้สมรสที่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ามีความพึงพอใจในชีวิตสมรสมากกว่าผู้สมรสที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตํ่ากว่า การวิจัยส่วนที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการสื่อสารระหว่างผู้สมรสที่มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสสูงและผู้สมรสที่มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสต่ำ โดยผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากงานวิจัยส่วนที่ 1 ได้ผู้สมรสที่มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสสูง 48 คนและผู้สมรสที่มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสต่ำ 56 คน รวม 104 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้สมรสที่มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสสูงใช้การสื่อสารแบบสอดคล้องมากกว่าผู้สมรสที่มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) 2) ผู้สมรสที่มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสสูงใช้การสื่อสารแบบไม่สอดคล้อง อันได้แก่ การสื่อสารแบบตำหนิผู้อื่นและแบบเฉไฉน้อยกว่า (p< .001) และใช้การสื่อสารแบบยึดติดเหตุผลมากกว่าผู้สมรสที่มีความพึงพอใจในชีวิตสมรสต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) ในขณะที่ใช้การสื่อสารแบบคล้อยตามไม่แตกต่างกัน