Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้ศึกษาถึงส่วนประกอบที่เป็นความอลวนในพฤติกรรมของผลตอบแทนของตราสารทุนที่มีการซื้อและขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ผลตอบแทนของดัชนีอุตสาหกรรมและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเภทรายวันตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2544 ถึง 1 สิงหาคม 2546 และประเภทรายเดือนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงเดือนมิถุนายน 2546 การศึกษาได้ใช้วิธีการวิเคราะห์เวลาและความถี่ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีคือการแปลงฟูริเยร์แบบไม่ต่อเนื่อง การแปลง เวฟเลตแพคเกตแบบไม่ต่อเนื่องด้วยฟังก์ชันเวฟเลตฮาร์ และการแปลงเวฟเลตแพคเกตแบบไม่ต่อเนื่องด้วยฟังก์ชันเวฟเลตดอว์เบชีส์4 ผลการศึกษาพบว่าวิธีการแปลงฟูริเยร์แบบไม่ต่อเนื่องไม่สามารถที่จะแยกส่วนประกอบที่เป็นความอลวนออกจากผลตอบแทนของดัชนีทุกดัชนี ตรงกันข้ามการแปลงเวฟเลตแพคเกตแบบไม่ต่อเนื่องทั้งฟังก์ชันเวฟเลตฮาร์และฟังก์ชันเวฟเลตดอว์เบชีส์ 4 สามารถแยกส่วนประกอบที่เป็นความอลวนออกจากผลตอบแทนของดัชนีทุกดัชนี และยังพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความอลวนกับผลตอบแทนของตราสารทุนที่ระดับความเชื่อมั่นถึง 99 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ความอลวนยังสามารถอธิบายความผันผวนของผลตอบแทนของดัชนีได้ประมาณ 20 ถึง 85 เปอร์เซ็นต์แล้วแต่ประเภทของดัชนี ยิ่งไปกว่านั้นความอลวนซึ่งถูกแยกโดยฟังก์ชันเวฟเลตฮาร์ ยังสามารถพยากรณ์ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลตอบแทนจริงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ระดับความเชื่อมั่นถึง 99 เปอร์เซ็นต์