Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะทดสอบทฤษฎีทุนมนุษย์ในกรณีของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยว่า เมื่อแรงงานมีการศึกษาสูงขึ้น ประสิทธิภาพในการผลิต และค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงด้วยหรือไม่ และการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเท่ากับการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในการผลิตหรือไม่ ข้อมูลปฐมภูมิที่ใช้ในการทดสอบทฤษฎีทุนมนุษย์ได้มาจากการตอบแบบสอบถามของกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 59 กิจการ และการตอบแบบสอบถามของแรงงงานในกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 315 คน ส่วนข้อมูลทุติยภูมิได้มาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การทดสอบทฤษฎีทุนมนุษย์ทำโดยการประมาณการสมการการผลิตเพื่อที่จะทราบว่าเมื่อแรงงานมีการศึกษาเพิ่มขึ้นมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตอย่างไร และประมาณการสมการค่าจ้างเพื่อที่จะทราบว่าการศึกษามีผลต่อค่าจ้างของแรงงานอย่างไร และนำเอาสัมประสิทธิ์ที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการผลิตจากสมการการผลิตและสัมประสิทธิ์แสดงถึงค่าจ้างของแรงงานในระดับการศึกษาต่าง ๆ มาทดสอบว่าแตกต่างกันหรือไม่ โดยวิธี Wald Test ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ในการทดสอบทฤษฎีทุนมนุษย์ในกรณีของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยพบว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และแรงงานระดับอนุปริญญาขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.862, 0.907 และ 0.956 ตามลำดับ ส่วนค่าจ้างของแรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแรงงานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และแรงงานระดับอนุปริญญาขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.223, 0.346 และ 0.642 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า เมื่อแรงงานมีการศึกษาเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการผลิตและค่าจ้างในทุกระดับการศึกษาเพิ่มขึ้นตามทฤษฎีมนุษย์ แต่การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการผลิต ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากตลาดแรงงานมีการแข่งขันไม่สมบูรณ์