Abstract:
การที่รัฐจะดำเนินนโยบายการเงินให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเข้าใจในกลไกการทำงานของนโยบายการเงิน และการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนอันเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ส่งผลต่อการบริโภคของภาคครัวเรือน จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และควรทำความเข้าใจในกลไกที่เกิดขึ้น ซึ่งการส่งผ่านนโยบายการเงินที่มีผลต่อการบริโภคของครัวเรือน คือ ช่องทางราคาสินทรัพย์ ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านช่องทางราคาสินทรัพย์ที่มีผลต่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนจากการถือครองหลักทรัพย์และอสังหา'ริมทรัพย์ และทำการเปรียบเทียบผลของการส่งผ่านที่มีต่อการบริโภคของครัวเรือนในสินค้าประเภทต่างๆ ในการทดสอบ ใช้แบบจำลอง Vector Autoregressive (VAR) จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ทิศทางและขนาดของผลกระทบด้วยการคำนวณ Impulse Response Function (IRF) และ Variance Decomposition (VD) โดยตัวแปรที่เลือกใช้ประกอบด้วย ตัวแปรเครื่องมือนโยบายการเงิน (อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน) ตัวแปรขั้นกลาง (ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีราคาบ้านและราคาบ้านเฉลี่ย) และตัวแปรเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย (การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน) ทำการประมาณค่าแบบจำลองโดยใช้ข้อมูลเป็นรายไตรมาส ตั้งแต่ พ.ศ.2536 ถึง พ.ศ.2547 แต่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของข้อมูลในช่วงก่อนและหลังเปลี่ยนนโยบายอัตราการแลกเปลี่ยนจากการทดสอบด้วยวิธี Chow's Test จึงทำการตัดข้อมูลและทำการศึกษาเฉพาะช่วงหลังลอยค่าเงินบาท (ไตรมาสสาม 2540 ถึงไตรมาสสี่ 2547 ในแบบจำลองราคาหลักทรัพย์ และไตรมาสหนึ่ง 2541 ถึงไตรมาสสี่2547 ในแบบจำลองราคาอสังหาริมทรัพย์) นอกจากนี้ เพื่อรวมผลของการเปลี่ยนนโยบายการเงินในพ.ศ.2543 จึงใส่ตัวแปรหุ่นที่แสดงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ในแบบจำลองที่ทำการศึกษาด้วย ผลการทดสอบ IRF พบว่าไม่เกิดการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านช่องทางราคาสินทรัพย์ทั้งในการถือครองหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ แต่ผลการทดสอบ VD แสดงให้เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ มากที่สุด ส่วนการบริโภคอุปโภคของครัวเรือนนั้น อัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบมากกว่าผลของความมั่งคั่งในการถือครองสินทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ และเมื่อพิจารณาลึกลงไป พบว่าอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าคงทนมากกว่าสินค้าไม่คงทนและบริการ อันเกิดจากการที่อัตรา ดอกเบี้ยมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน ซึ่งร้อยละ 36 ของสินเชื่อเป็นการบริโภคเพื่อเช่าซื้อบ้านและที่ดินอันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินค้าคงทน และการกระตุ้นนโยบายการคลังของรัฐทำให้เกิดบริโภคในสินค้าคงทนเช่นกัน นอกจากนี้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าตัวแปรที่นำมาใช้ในการศึกษามีความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาวซึ่งกันและกันจากการทดสอบด้วย Cointegration Test