Abstract:
เต่ากระเป็นเต่าทะเลที่จัดอยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ในประเทศไทยพบเต่ากระขึ้นวางไข่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยจำเพาะบางบริเวณเท่านั้น ได้แก่ เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามได้ทำการนำไข่เต่ามาเพาะฟักและอนุบาลลูกเต่าในบ่อเลี้ยงจนแข็งแรงแล้วจึงปล่อยสู่ธรรมชาติ การอนุบาลเต่ากระในบ่อเลี้ยงต้องมีการตรวจสุขภาวะเต่าโดยการประเมินจากสภาพภายนอก และการประเมินทางโลหิตวิทยา ซึ่งเป็นพารามิเตอร์ที่อาจมีความแตกต่างในรอบวัน และอาจมีผลต่อการวินิจฉัยเมื่อเก็บตัวอย่างเลือดเต่าในช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแตกต่างในรอบวันของค่าทางโลหิตวิทยาของเต่ากระในบ่อเลี้ยง โดยเก็บตัวอย่างเลือดเต่ากระในบ่อเลี้ยง ณ เกาะทะลุ ในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนในฤดูก่อนมรสุม และฤดูมรสุม นำมาตรวจสอบค่าทางโลหิตวิทยา ได้แก่ การนับแยกชนิดเซลล์เม็ดเลือดขาว และการหาค่าเซลล์เม็ดเลือดขาวอัดแน่น รวมถึงวิเคราะห์ปริมาณสารชีวโมเลกุลในพลาสม่า ได้แก่ โปรตีน ยูเรียไนโตรเจน และครีเอทินิน พร้อมทั้งเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิน้ำ อุณหภูมิอากาศ ค่า pH ค่าความเข้มแสง และค่าความเค็มของน้ำทะเลภายในบ่อเลี้ยง ผลการวิเคราะห์ความแตกต่างที่เด่นชัดในรอบวันของค่าทางโลหิตวิทยา พบค่าทางโลหิตวิทยาที่มีความแตกต่างระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืนอย่างมีนัยสำคัญทั้ง 2 ฤดู ได้แก่ ร้อยละของเฮเทอโรฟิล ร้อยละของลิมโฟไซต์ และอัตราส่วนเฮเทอโรฟิลต่อลิมโฟไซต์ ส่วนค่าทางโลหิตวิทยาที่พบว่ามีความแตกต่างระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืนอย่างมีนัยสำคัญเพียงฤดูก่อนมรสุมฤดูเดียว ได้แก่ ร้อยละของโมโนไซต์ ซึ่งการศึกษาความแตกต่างในรอบวันของค่าทางโลหิตวิทยาในเต่ากระมีความสำคัญและจำเป็นมากเนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการแปรผลทางโลหิตวิทยาเพื่อประเมินสุขภาวะ และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดการศึกษาทางด้านสรีรวิทยาของเต่ากระในอนาคตได้