Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะจัดระบบนิทานไทยที่ปรากฏอนุภาคสมพาสที่ผิดธรรมชาติ จำนวน ๑๕๔ เรื่อง และวิเคราะห์หาความหมายของอนุภาคดังกล่าวในเชิงวัฒนธรรม ผลการวิจัยพบว่าสามารถจัดระบบอนุภาคสมพาสที่ผิดธรรมชาติในนิทานไทยได้เป็น ๕ หมวดใหญ่ คือ ๑. อนุภาคคนสมพาสกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ๒. อนุภาคคนสมพาสกับสัตว์ ๓. อนุภาคสิ่ง เหนือธรรมชาติสมพาสกับสัตว์ ๙. อนุภาคสัตว์สมพาสกับสัตว์ต่างชนิดกัน ๕. อนุภาคสมพาสที่ผ่านการกิน และพบว่าอนุภาคที่ปรากฏในนิทานไทยมากที่สุด ได้แก่ ๑. อนุภาคคนสมพาสกับยักษ์ ๒. อนุภาคคนสมพาสกับนางที่ถือกำเนิดจากดอกบัว ๓. อนุภาคคนสมพาสกับกินรี ๔. อนุภาคคนสมพาสกับงูและนาค ๕. อนุภาคคนสมพาสกับสัตว์ : สัตว์ที่ต่อมาถอดร่างเป็นคน ๖. อนุภาคการดื่มน้ำหรือน้ำปัสสาวะในรอยเท้าช้างแล้วตั้งครรภ์ ในการวิเคราะห์หาความหมายพบว่าอนุภาคสมพาสที่ผิดธรรมชาติในนิทานไทยเป็นอนุภาคที่มีความหมายในเชิงสากลและในมิติทางวัฒนธรรม ในด้านความหมายเชิงสากล ผู้วิจัยพบว่าอนุภาคสมพาสที่ผิดธรรมชาติเป็นอนุภาคสากลที่พบในนิทานทั่วโลก อนุภาคที่พบมีทั้งที่เหมือนและต่างจากอนุภาคสากล อนุภาคที่เหมือนกันแสดงให้เห็นความคิดที่เป็นสากลของมนุษยชาติ ส่วนอนุภาคที่ต่างกันนั้นเกิดขึ้นจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ในนิทานไทย อนุภาคสมพาสที่ผิดธรรมชาติได้สะท้อนคติความเชื่อและค่านิยมของคนไทยที่เกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัว ตลอดจนสะท้อนความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นการผสมผสานคติความเชื่อระหว่างพุทธ พราหมณ์ และคติความเชื่อตั้งเดิมของท้องถิ่นอีกด้วย อนุภาคสมพาสที่ผิดธรรมชาติในนิทานไทยจึงสามารถสื่อความหมายที่เกี่ยวข้องวัฒนธรรมไทยได้ในหลายมิติ