Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเดินทางและทัศนคติในการเลือกเส้นทางของผู้ขับขี่รถยนต์ที่เดินทางจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดชลบุรีรวมทั้งเพื่อสร้างแบบจำลองที่ใช้ทำนายพฤติกรรมการตัดสินใจ เลือกเส้นทาง โดยพิจารณาเฉพาะเส้นทางหลัก ได้แก่ ถ.บางนา-ตราด ทางด่วนยกระดับบางนา-ชลบุรี และมอเตอร์เวย์ กลุ่มตัวอย่างของผู้ขับขี่ที่รวบรวมได้ในการศึกษานี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย กลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวจำนวน 167 คน และกลุ่มผู้ขับขี่รถขนส่งสินค้าจำนวน 86 คน การวิเคราะห์ได้แบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและหลักเกณฑ์การตัดสินใจเลือกเส้นทางของผู้ขับขี่ และการพัฒนาแบบจำลองประเภทลอจิต (Logit) เพื่อทำนายความน่าจะเป็นที่ผู้ขับขี่จะเลือกใช้เส้นทางแต่ละเส้นทาง ข้อมูลที่ใช้นั้นได้จากการสัมภาษณ์ผู้ขับขี่ที่เดินทางอยู่แล้วในปัจจุบันและสำรวจ ณ บริเวณเส้นทางที่พิจารณา นอกจากนั้น การศึกษานี้เลือกใช้วิธีการสำรวจ Stated Preference (SP) โดยให้ผู้ขับขี่แสดงการตัดสินใจเลือกเส้นทางจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สมมติขึ้น ผลการศึกษาพบว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวประมาณร้อยละ 80 ระบุว่าจะเปลี่ยนเส้นทางจากที่เคยใช้ประจำ หากพบกับสภาพการจราจรติดขัดหรือมีการเปลี่ยนอัตราค่าผ่านทาง รวมถึงยังทำให้ทราบว่าหลักเกณฑ์การเลือกเส้นทางของผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวที่สำคัญที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เวลาการเดินทาง สภาพการจราจร สภาพผิวถนน ความปลอดภัย และความคุ้นเคยกับเส้นทาง ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ขับขี่รถขนส่งสินค้ามีหลักเกณฑ์การตัดสินใจของผู้ขับขี่รถขนส่งสินค้านั้นมีความซับซ้อนกว่า และขึ้นอยู่กับประเภทรถที่ใช้ ผู้ขับขี่จำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ขับขี่รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป มีข้อจำกัดในการเลือกเส้นทางคือ มีจุดแวะระหว่างเส้นทางติดเวลาใช้เส้นทางของรถบรรทุก ต้องวิ่งในเส้นทางที่นายจ้างกำหนด และนํ้าหนักบรรทุก การสร้างแบบจำลองใช้รูปแบบ Multinomial Logit (MNL) โดยข้อมูลจากการเลือกเส้นทางจากสถานการณ์ที่สมมติขึ้นด้วยวิธี SP และวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มตัวอย่างผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัว ผลการศึกษาพบว่า แบบจำลองสามารถทำนายการเลือกเส้นทางได้ดีขึ้น เมื่อแยกวิเคราะห์กลุ่มผู้ขับขี่ตามวัตถุประสงค์ของการเดินทางและปัจจัยทีมีอิทธิพลต่อการเลือกเส้นทางมากที่สุดคือปัจจัยที่แสดงคุณสมบัติของเส้นทาง ซึ่งได้แก่ ระยะทางจากจุดเริ่มเดินทาง เวลาการเดินทาง สภาพการจราจร และค่าผ่านทาง นอกจากนั้น พฤติกรรมการตัดสินใจเลือกเส้นทางของผู้ขับขี่ยังมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของผู้ขับขี่อีกด้วย ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญๆ ได้แก่ เพศ อายุ และรายได้ของผู้ขับขี่ และจุดหมายปลายทาง