Abstract:
การปนเปื้อนไมโครพลาสติกเป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลก เนื่องจากพลาสติกที่ถูกทิ้งเป็นขยะถูกย่อยสลายอย่างไม่สมบูรณ์ด้วยแรงกระทำทางธรรมชาติ เช่น UV ความร้อน คลื่น จึงทำให้กลายเป็นพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรที่เรียกว่า ไมโคร พลาสติก ซึ่งสามารถปนเปื้อนสะสมในสัตว์ที่มีพฤติกรรมการกินแบบกรองกิน เช่น หอยสองฝา สำหรับประเทศไทยมีรายงานการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปี พ.ศ.2560 โดยพบว่ามีไมโครพลา สติก 4 ชนิด ได้แก่ พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีน พอลิเอไมด์ พอลิไวนิลคลอไรด์ ปนเปื้อนอยู่ในหอย นางรม Saccotrea forskalii ที่จังหวัดชลบุรี การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในหอยสองฝาอาจส่งผลกระทบต่อหอยและสัตว์ที่กินหอยเป็นอาหารรวมถึงมนุษย์ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในหอยนางรมจากเกาะในอ่าวไทย โดยเก็บตัวอย่างหอยนางรม Saccostrea spp. ในปี พ.ศ.2561-2562 จาก 4 พื้นที่ในอ่าวไทยตอนบน ได้แก่ เกาะทะลุ จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ (ฝั่งตะวันตก) เกาะสีชัง (ฝั่งตะวันออกด้านใน) เกาะแสมสาร และ ท่าเรือเขาหมาจอ (ฝั่งตะวันออกด้านนอก) จังหวัดชลบุรี แล้วนำหอยนางรมออกจากเปลือกมาทำความสะอาดและชั่งน้ำหนัก ย่อยเนื้อเยื่อด้วยสารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ 10% จากนั้นนำสารแขวนลอยกรอง ผ่านแผ่นกรองขนาด 1.2 μm แช่แผ่นกรองในสารละลาย 4.4 M โซเดียมไอโอไดด์ นำไป sonication และ centrifuge ที่ 500×g และ กรองอีกครั้งหนึ่ง นำแผ่นกรองที่มีไมโครพลาสติกติดอยู่ไปส่องใต้ กล้องจุลทรรศน์ และบันทึกชนิด และจำนวนพลาสติกที่พบต่อน้ำหนักหอย 1 กรัม ผลการศึกษาเบื้องต้นพบไมโครพลาสติกอย่างน้อย 5 ชนิดปนเปื้อนในหอยนางรมจากเกาะในอ่าวไทย และพบข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและชนิดไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในหอยนางรมในพื้นที่และฤดูกาลที่แตกต่างกัน ข้อมูลที่ได้สามารถใช้เพื่อบ่งบอกระดับการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอ่าวไทยและยังสามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนถึงแนวโน้มการปนเปื้อนไมโครพลาสติกที่สามารถถ่ายทอดทางอาหาร ไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นรวมทั้งมนุษย์ได้