Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ศึกษาถึงขอบเขตของสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทยพบว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งแยกระหว่างสัญญาทางปกครองและสัญญาทางแพ่งในระบบกฎหมายโดยสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกได้แก่ สัญญาทางปกครองโดยการกำหนดของกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันนี้คือ บทบัญญัติมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ส่วนประเภทที่ 2 ได้แก่ สัญญาทางปกครองโดยสภาพ คือ สัญญาทางปกครองที่ได้รับการพัฒนาโดยศาลปกครอง จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันนี้แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองและคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีส่วนพัฒนาความหมายของสัญญาทางปกครองแต่ละประเภทให้มีความชัดเจนขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในส่วนของสัญญาทางปกครองโดยการกำหนดของกฎหมาย แต่สำหรับในส่วนของสัญญาทางปกครองโดยสภาพนั้น โดยเฉพาะกรณีของ “สัญญาที่มีข้อกำหนดที่มีลักษณะแสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ’' ยังคงมีความหมายที่ไม่ชัดเจนนอกจากนี้ ศาลยุติธรรมและคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลก็ไม่ได้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปปรับใช้โดยชัดแจ้งแต่อย่างใด ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งทำให้ขอบเขตของสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทยในบางส่วนมีความไม่ชัดเจนโดยในเรื่องดังกล่าวควรมีการแก้ไขปัญหาดังนี้ 1. ควรนำหลักเกณฑ์การแบ่งแยกระหว่างสัญญาทางปกครองและสัญญาทางแพ่งที่ได้รับการพัฒนาโดยศาลปกครอง และศาลยุติธรรมที่มีความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้เป็นการทั่วไปไปกำหนดไว้ในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป 2. ควรงดเว้นการนำหลักเกณฑ์ที่ยังไม่มีความหมายชัดเจนเพียงพอมาเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่งแยกระหว่างสัญญาทางปกครองและสัญญาทางแพ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักเกณฑ์ในเรื่องของ "ข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ’’ 3. ควรกำหนดให้สัญญาที่จัดทำขึ้นโดยอยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการพัสดุทั้งหมดเป็นสัญญาที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง