Abstract:
งานวิจัยนี้ทำการวิเคราะห์สารระเหยง่ายในตัวอย่างผักชีซึ่งเป็นพืชที่นิยมใช้ในการประกอบอาหารทั้งหมด 4 ส่วน ได้แก่ ราก ใบ ลำต้น และเม็ดด้วยเทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโทรเมตรี (GC-MS) โดยใช้เทคนิคเฮดสเปซโซลิดเฟสไมโครเอกซ์แทรกชัน (HS-SPME) ในการสกัดสารระเหยง่าย สภาวะของเครื่อง GC-MS ได้แก่ อัตราการเพิ่มอุณหภูมิ 1 ที่เหมาะสม คือ 5 องศาเซลเซียสต่อนาที และอัตราส่วนของสารที่เข้าคอลัมน์ ที่ทำให้สารแยกออกจากกันได้ดีที่สุด คือ อัตราส่วน 5:1 อุณหภูมิ HS-SPME ที่เหมาะสมในการสกัดสารระเหยง่ายในตัวอย่างผักชี คือ 60 องศาเซลเซียส และเวลา HS-SPME ที่เหมาะสมในการสกัดสารระเหยง่ายในตัวอย่างผักชี คือ 30 นาที จากนั้นทำการวิเคราะห์หาสารระเหยง่ายในตัวอย่างผักชีทั้ง 4 ส่วน เพื่อพิสูจน์ทราบเอกลักษณ์ของสารระเหยง่ายในผักชีโดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล NIST14 สามารถพิสูจน์ทราบเอกลักษณ์ของสารระเหยง่ายได้ทั้งหมด 120 สาร จากนั้นนำพื้นที่ใต้พีกของสารระเหยง่ายในโครมาโทแกรมจากตัวอย่างผักชีมาคำนวณหา % Normalization เพื่อใช้ในประมวลผลโดยวิธีเคโมเมทริกซ์ชนิด PCA ด้วยโปรแกรม XLSTAT 2018 พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 5 กลุ่ม คือ ตัวอย่างผักชีส่วนใบสด น้ำที่ผ่านการลวกจากส่วนใบและลำต้นผักชีกับใบที่ถูกนำไปลวกแล้ว ลำต้นผักชีสดและที่ถูกนำไปลวกแล้ว ตัวอย่างผักชีส่วนเม็ด และตัวอย่างผักชีส่วนราก