Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเภทและการกระจายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง และปัจจัยในการเลือกที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง รวมทั้งการศึกษาสภาพปัญหาในการเลือกที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางในจังหวัดปทุมธานี แยกอธิบายปัจจัยตามความเห็นของผู้ประกอบการตามประเภทอุตสาหกรรม ตามแหล่งที่ตั้งและตามช่วงอายุโรงงาน โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิและข้อมูลปฐมภูมิเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งโรงงาน สภาพปัญหาหรืออุปสรรคในการเลือกที่ตั้งของโรงงานด้วยการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ศึกษามี 8 ประเภท ปัจจัยที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการเลือกที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ (1 ) ปัจจัยด้านคมนาคมขนส่ง สะดวก รวดเร็ว (2) ปัจจัยด้านความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค (3) ปัจจัยด้านราคาที่ดิน (4) ปัจจัยด้านแรงงาน และ (5) ปัจจัยด้านการเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม และเมื่อพิจารณาปัจจัยที่ให้ความสำคัญกับการเลือกที่ตั้งจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมเกษตรให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านวัตถุดิบเป็นลำดับแรก ส่วนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมไม้และแปรรูปไม้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก อุตสาหกรรมโลหะและอโลหะ อุตสาหกรรมบริการแสะอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการคมนาคมเป็นลำดับแรก สอดคล้องกับการพิจารณาความสำคัญของปัจจัยการเลือกที่ตั้งตามพื้นที่ พบว่า ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้วที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านวัตถุดิบเป็นลำดับแรก และการพิจารณาปัจจัยที่ให้ความสำคัญกับการเลือกที่ตั้งโรงงานตามช่วงอายุของโรงงาน พบว่า โรงงานในแต่ละช่วงอายุนั้นล้วนให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการคมนาคมเป็นปัจจัยลำดับแรก และมีปัจจัยด้านการเป็นเขตประกอบการ ปัจจัยด้านระบบสาธารณูปโภค เป็นลำดับรองลงมา สำหรับปัญหาในการเลือกที่ตั้งของโรงงานนั้น พบว่า ปัญหาด้านราคาที่ดินเป็นปัญหาที่พบมากสุด รองลงมาคือ ระบบสาธารณูปโภคและระบบการคมนาคมและบทบาทที่ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ ด้านภาษี การควบคุมราคาวัตถุดิบ และปรับปรุงด้านระบบสาธารณูปโภค ตามลำดับ ดังนั้น ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรมขนาดกลาง ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุนและส่งเสริม อีกทั้งการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่อพื้นที่ร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทั้งในพื้นที่ศึกษาและจังหวัดใกล้เคียง