Abstract:
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการต้องรับผิดทางอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่มิได้กำหนดเกณฑ์ในการรับผิดเอาไว้ ก่อให้เกิดปัญหาในการกล่าวโทษผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการและทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการประสบปัญหาความล่าช้าในทางปฏิบัติหลายๆ ประการ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดทางอาญาของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ตลอดจนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ จนถึงการตรวจสอบการทุจริตของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศึกษาเปรียบเทียบกับโครงสร้างกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการของประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาพบว่าเนื่องจากพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 มิได้กำหนดบทนิยามคำว่า ทุจริต เอาไว้ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายอาญา ส่งผลให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อมีเจตนาพิเศษคือ มุ่งแสวงหาทรัพย์สินหรือประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น แต่กฎหมายฟื้นฟูกิจการของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษพิจารณาลักษณะของเจตนาเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าผู้บริหารแผนที่เนฟูกิจการจะไม่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากการจัดการทรัพย์สินก็ตาม แต่ก็ต้องรับผิดหากกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่แห่งความไว้วางใจในระดับมาตรฐานของกรรมการบริษัท ผู้วิจัยจึงขอเสนอแนวทางแก้ไขโดยกำหนดให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีสถานะและมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับกรรมการบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งทำให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการต้องรับผิดทางอาญาหากได้ปฏิบัติฝ่าฝืนหน้าที่แห่งความสุจริตและความไว้วางใจ ตลอดจนต้องรับผิดอาญาตามกฎหมายพิเศษ อื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังได้เสนอให้องค์กรธุรกิจควรมีระบบการตรวจสอบภายในเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์หาข้อบกพร่องหรือความทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น และการตรวจสอบภายนอกโดยกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบ (Examiner) ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ศาลเฉพาะในกรณีที่มีการร้องขอให้ถอดถอนหรือลงโทษผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ยิ่งไปกว่านั้นเห็นสมควรให้นำเอาการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์มาใช้ในการตรวจสอบการทุจริตของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ